บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่่่อในการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เนตในชีวิตประจำวันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขอขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ความสำคัญของ ความหลากหลายทางชีวภาพ

ความสำคัญของ ความหลากหลายทางชีวภาพ


      เราทุกคนต่างมีความสัมพันธ์และต้องพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพ ในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ว่าบ่อยครั้งจะไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คนเรามักเห็นความสำคัญ  ของความหลากหลายทางชีวภาพ จากประโยชน์โดยตรงที่เราได้รับ นั่นคือการนำมาเป็นอาหาร แต่ความจริงแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพนั้น มีบทบาทตามธรรมชาติกว้างขวางมาก ในด้านการให้บริการทางนิเวศวิทยา ยกตัวอย่างเช่น จุลินทรีย์และแบคทีเรีย ช่วยย่อยสลายขยะ ดให้กลายเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช แมลงช่วยผสมเกสรให้ดอกไม้และพืชผลทางการเกษตร แนวปะการังและป่าชายเลนช่วยปกป้องชายฝั่งให้ปลอดภัยจากคลื่นลม สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ที่คนเราได้รับจากธรรมชาติโดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ บ่อยครั้งจึงพบว่าคนเรามองข้ามความสำคัญของมันไปและถึงแม้ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ยังต้องพัฒนาอีกมาก เพื่อที่จะสามารถเข้าใจความสัมพันธ์ ระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพ กับการให้บริการทางนิเวศวิทยา แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสิ่งที่ความหลากหลายทางชีวภาพให้บริการแก่เรานั้น หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทุกคนในทุกระดับ ไม่ว่าคนรวยหรือคนจนก็ตาม และในความเป็นจริงนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดคือ คนจนและชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตประจำวันใกล้ชิดและพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด และยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางชีวภาพที่สุดอีกด้วย และการที่คนเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ และไม่สามารถแยกตัวออกไปโดยไม่พึ่งพาธรรมชาติได้นั้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพมีผลต่อความเป็นอยู่ของคนเรา จากประวัติศาสตร์อันยาวนาน 5 พันล้านปีของโลก สิ่งมีชีวิตบนโลกมีทั้งเกิดขึ้นใหม่และสูญพันธุ์ไปตลอดเวลาตามกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ตลอด 3.8 พันล้านปีที่ผ่านมา มีหลักฐานการเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต 5 ครั้งในอดีต แต่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเองนั้น พบว่าสิ่งมีชีวิตได้มีการสูญพันธุ์ และเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด ในยุคปัจจุบันนี้ และเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์เอง ทั้งจากกิจกรรมทางตรงและทางอ้อม โดยจากอัตราการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โลกจะสูญเสียชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันไปประมาณร้อยละ 20 ภายใน 30 ปีข้างหน้า และร้อยละ 50 ของชนิดพันธุ์ภายในสิ้นศตวรรษหน้า (Myers, 1993) จากอัตราการสูญเสียที่สูงมาก ทำให้ประชาคมโลกเริ่มหันมาตระหนักถึงความสำคัญและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเกิดอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity; CBD) ขึ้นมาในปี ค.ศ.1992 โดยมี 197 ประเทศลงนามในการประชุมที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร และมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1993 โดยมีเนื้อหาให้คํามั่นสัญญาทางกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ การเงิน การเข้าถึงเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งนับว่า เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต อนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์ทั้งทางด้านการอนุรักษ์และการพัฒนา และยังมีการเชื่อมโยงอย่างเหนียวแน่น ระหว่างความต้องการของประชาชนและการอนุรักษ์ โดยวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ประการแรก คือ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ประการที่สอง คือ การใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และประการที่สาม คือ การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมและเท่า เทียมในการใช้ทรัพยากรพันธุกรรรม





        ประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2547 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่การลงนามรับรองอนุสัญญาฯ ในปี พ.ศ.2535 โดยมีหน่วยงานหลัก ที่รับผิดชอบเป็นหน่วยงานประสานงานอนุสัญญาฯ คือ สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการดําเนินงานสอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเผยแพร่ความรู้ ความตระหนักเกี่ยวกับความสําคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น และนับว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงประเทศหนึ่ง แต่ทรัพยากรสัตว์ป่าของไทยหลายชนิด ได้รับการยืนยันแล้วว่า ได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สมัน นกช้อนหอยใหญ่ และนกพงหญ้า นอกจากนั้น แรดชวา กูปรี นกกระสาปากเหลือง นกช้อนหอยดํา นกกระเรียน และจระเข้ปากกระทุงเหว ก็เชื่อว่า ได้สูญพันธุ์จากสภาพธรรมชาติไปแล้ว (สํานักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2540) ในขณะที่พืชหลายชนิด ตกอยู่ในสภาวะหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ โดยมีการรายงานว่าพืชในประเทศไทยประมาณ 400 ชนิด เป็นพืชที่มีภาวะใกล้จะสูญพันธุ์ และประมาณ 600 ชนิด เป็นพืชหายาก (OEPP, 1992) ซึ่งสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดการสูญพันธุ์มีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การค้าสัตว์และพืชป่าอย่างผิดกฎหมาย การรบกวนสภาพที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและระบบนิเวศ เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าดิบชื้นและป่าชายเลน การก่อสร้างอ่างเก็บนํ้าและเขื่อนพลังนํ้า ความเป็นเมือง การท่องเที่ยว และภาวะมลพิษ ล้วนแต่ก่อให้เกิดการคุกคามต่อชีวิตในป่า และส่งผลต่อการลดลงของจำนวนประชากรพืชและสัตว์ป่าทั้งสิ้น
สถานภาพปัจจุบันและอนาคตของความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย อยู่ในภาวะที่กล่าวได้ว่า ล่อแหลมอย่างยิ่ง เนื่องจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสูงมากในทุกระดับของสังคม แต่ความพยายามในการอนุรักษ์ของประเทศไทยไม่สามารถที่จะทันการณ์ต่ออัตราการทําลาย อีกทั้งหลายๆปัจจัยเอื้ออํานวยต่อการใช้ประโยชน์ ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสิ้นเปลืองทั้งสิ้น ในขณะที่ปัจจัยที่เอื้ออํานวยต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนยังไม่พอเพียง ปัจจัยสำคัญที่ยังขาดอยู่คือฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพระดับท้องถิ่น ซึ่งหมายความไปถึง การที่ประเทศไทยขาดนักอนุกรมวิธานด้วย รวมไปถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อันจะนำไปสู่การได้ประโยชน์จาก ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ทั้งต่อชุมชนท้องถิ่นเอง และสังคมโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ การสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้ชุมชนรู้จัก และทราบถึงความสำคัญ ของความหลากหลายทางชีวภาพ ของท้องถิ่นของตนเองก่อน ทางสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำโครงการสำรวจและรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและหน่วยงานของรัฐ ในการจัดทำฐานข้อมูลและภูมิปัญญาความหลากหลายทางชีวภาพระดับท้องถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชน ในการเสริมสร้างศักยภาพในการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างยั่งยืนต่อไป โดยในปีงบประมาณ 2552 นี้ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวในพื้นที่ 3 กลุ่มป่า ใน 3 จังหวัดของภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมพื้นที่เป้าหมาย 18 ตำบล ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ และคณะการแพทย์แผนไทย ได้รับเป็นที่ปรึกษาและดำเนินโครงการในส่วนพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
ที่มาhttp://www.nhm.psu.ac.th/museum/index.php?option=com_content&view=article&id=127:2009-09-15-03-37-02&catid=43:2008-08-28-07-16-24&Itemid=65

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น