บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่่่อในการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เนตในชีวิตประจำวันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขอขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความหลากหลายของชนิดนกในประเทศไทย

ความหลากหลายของชนิดนกในประเทศไทย
       ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน (Tropical zone) ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม มีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี และอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรโลก จึงทำให้สภาพภูมิอากาศไม่ผันผวนรุนแรง และอุณหภูมิในแต่ละฤดูกาลไม่แตกต่างกันมาก จึงง่ายต่อการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความหลากหลายของระบบนิเวศต่าง ๆ มากมาย มีป่าหลายประเภทที่เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสน ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าชายหาด บึงน้ำจืด ป่าไผ่ ทุ่งหญ้า สังคมสิ่งมีชีวิตบนเขาหินปูน พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าบุง-ป่าทาม ก่อเกิดสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะแตกต่างกันมากมายในระบบนิเวศแต่ละแบบ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังเป็นเสมือนจุดบรรจบของเขตกระจายพันธุ์พืชและสัตว์หลายเขต คือ เป็นเขตซ้อนทับของกลุ่มพรรณพฤกษชาติ (Floristic region) ถึง ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอินโด-เบอร์มีส (Indo-Burmese elements) กลุ่มอินโด-ไชนีส (Indo-Chinese elements) และกลุ่มมาเลเซีย (Malaysian elements) ในส่วนของสัตว์ป่านั้นถือว่าประเทศไทยเป็นจุดซ้อนทับของเขตสัตวภูมศาสตร์ (Zoological region) ถึง ๓ เขตด้วยกันคือ เขตซิโน-หิมาลายัน (Shino-Himalayan) เขตอินโด-ไชนีส (Indo-Chinese) และเขตซุนดา (Sundaic) เป็นผลให้มีความหลากหลายทางชีวภาพในทุกระดับรวมกันอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกที่พบในประเทศไทยตามที่ระบุไว้ในหนังสือคู่มือดูนกภาคสนามมีจำนวนชนิดมากถึง ๙๘๖ ชนิด (จารุจินต์ และคณะ, ๒๕๕๐) เมื่อเทียบกับจำนวนนกที่มีรายงานการพบและได้รับการตั้งชื่อแล้วทั่วโลกนี้ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๙,๖๗๒ ชนิด (Sibley and Monroe, ๑๙๙๐) หรืออาจจะกล่าวได้ว่าจำนวนนกที่พบในประเทศไทยมีประมาณ ๑๐% ของนกที่พบทั่วโลก นับว่าประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดนกสูงมากแห่งหนึ่ง
พิจารณาอย่างละเอียดในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยก็จะพบว่า ในแต่ละภูมิภาคจะมีลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยา ภูมิอากาศ และสภาพลุ่มน้ำที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดสภาพธรรมชาติที่เหมาะสมต่อการใช้เป็นแหล่งอาศัย หากิน แหล่งหลบภัย และสร้างรังวางไข่ของนกแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น ๖ ภูมิภาค ดังนี้
        ๑. เขตเทือกเขาและหุบเขาทางภาคเหนือพื้นที่ภูเขาและที่สูงในภาคเหนือของประเทศไทย มีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนซึ่งต่อเนื่องลงมาจากเทือกเขาหิมาลัย โดยเชื่อมผ่านทางที่ราบสูงธิเบต วางตัวในแนวยาวเหนือ-ใต้ขนานกันลงมา ๕ แนว เริ่มจากเทือกเขาแดนลาวทางตอนเหนือ กั้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ทางด้านตะวันตกมีเทือกเขาถนนธงชัย ตอนล่างมีเทือกเขาผีปันน้ำ ๒ แนว และทางด้านตะวันออกมีเทือกเขาหลวงพระบางและเทือกเขาเพชรบูรณ์ มีความสูงระหว่าง ๒๐๐-๒,๕๖๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล ระหว่างแนวเทือกเขาเป็นที่ราบตามหุบเขากระจายทั่วไป เทือกเขาที่มีความสูงอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันออกของภูมิภาคนี้ ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ดอยอินทนนท์ ในจังหวัดเชียงใหม่ มีความสูง ๒,๕๖๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล ภาคเหนือมีทั้งป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ลุ่มน้ำที่สำคัญอยู่ทางตอนล่างสุดของภูมิภาคนี้ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนไหลลงสู่ที่ราบลุ่มทางตอนกลางของประเทศ
นกที่อาศัยอยู่ในเขตเทือกเขาภาคเหนือประกอบด้วยนกที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูงที่คล้ายคลึงกับนกที่พบในบริเวณเทือกเขาหิมาลัยและทางตอนใต้ของประเทศจีน เช่น นกภูหงอน นกศิวะ นกขัติยา นกกะรองทองแก้มขาว นกหางรำ นกปีกลายตาขาว นกปากนกแก้ว รวมทั้งนกเดินดง นกเขน และนกจับแมลงอีกหลายชนิดที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาในฤดูหนาว นกประจำถิ่นบนภูเขาในภูมิภาคนี้มีไม่ต่ำกว่า ๖๐ ชนิด
ยอดเขาสูงที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ดอยอินทนนท์ซึ่งมีความสูงที่สุดเป็นแหล่งอาศัยของนกหลายชนิดที่ไม่พบในบริเวณอื่นเลย คือ นกกินปลีหางยาวเขียวชนิดย่อย angkaensis และนกกระจิ๊ดคอสีเทา ส่วนยอดดอยเชียงดาวซึ่งเป็นเทือกเขาหินปูนก็เป็นแหล่งที่พบไก่ฟ้าหางลายขวางและนกกินแมลงเด็กแนน ดอยผ้าห่มปกก็เป็นบริเวณที่พบนกหายากและแตกต่างจากบริเวณอื่น ๆ ได้หลายชนิด เช่น นกไต่ไม้สีสวย นกขัติยา นกติตหัวแดง นกกินปลีแดงหัวไพลิน นกภูหงอนวงตาขาว นกกะรางแก้มแดง ยอดเขาเหล่านี้ยังเป็นแหล่งอาศัยในฤดูหนาวของนกที่อพยพย้ายถิ่นมาจากทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย เช่น นกเดินดงอกเทา และนกเขนน้อยสีทองอีกด้วย
สำหรับนกประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นราบนั้น เนื่องจากมีเทือกเขาขุนตาลทางตอนกลางของภูมิภาควางตัวในแนวเหนือ-ใต้เป็นเสมือนกำแพงขวางกั้นการแพร่กระจายของนกทางด้านตะวันตกและทางด้านตะวันออกของภูมิภาคนี้ให้แยกออกจากกัน ทำให้มีการแบ่งการแพร่กระจายค่อนข้างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากกรณีของไก่ฟ้าหลังเทาซึ่งพบเฉพาะทางด้านตะวันตกแต่ไม่พบทางด้านตะวันออก ในทางกลับกัน ไก่ฟ้าพญาลอและนกโกโรโกโส ก็พบเฉพาะทางด้านตะวันออกของภาคเหนือเท่านั้น
ตอนเหนือสุดของภาคเหนือมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญคือ หนองบงคาย หรือทะเลสาบเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งอาศัยของนกแสกทุ่งหญ้า และเป็นแหล่งอาศัยของนกอพยพในช่วงฤดูหนาวหลายชนิด โดยเฉพาะกลุ่มนกเป็ดน้ำ มีหลายชนิดที่พบเห็นได้ยาก เช่น ห่านหัวลาย นกกระเรียนพันธุ์ยุโรป
๒. เขตเทือกเขาภาคตะวันตก
บริเวณภาคตะวันตกของประเทศไทยมีแนวเทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาตะนาวศรีเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่าวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีระดับความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำต่าง ๆ ที่สำคัญคือ แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำเมย
ภูมิภาคนี้ปกคลุมด้วยป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ต่อเนื่องกันกับผืนป่าในประเทศพม่า ทำให้เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่กว้างขวางที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีนกหลายชนิดที่พบได้เฉพาะป่าตะวันตกเท่านั้น เช่น นกภูหงอนพม่า นกเงือกคอแดง นกกะเต็นขาวดำใหญ่ รวมทั้งนกจู๋เต้นหางยาวและนกมุ่นรกหน้าผากน้ำตาล
นอกจากนี้ ป่าตะวันตกทางตอนใต้โดยเฉพาะผืนป่าแก่งกระจาน ยังทำหน้าที่เป็นแนวเชื่อมต่อสำคัญของสิ่งมีชีวิตทางตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นเขตที่มีการทับซ้อนกันของพรรณพฤกษชาติ ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มอินโด-เบอร์มีส กลุ่มอินโด-ไชนีส และกลุ่มมาเลเซีย จึงทำให้สามารถพบสัตว์ที่กระจายอยู่ในเขตสัตวภูมิศาสตร์ทั้ง ๓ เขต ปรากฏอยู่ในภูมิภาคนี้ดวย คือ สัตว์ที่กระจายอยู่ในเขตซิโน-หิมาลายัน เขตอินโด-ไชนีส และเขตซุนดา ดังนั้น เราจึงสามารถพบนกที่อาศัยเฉพาะทางภาคเหนือกระจายพันธุ์ลงมา เช่น นกศิวะปีกสีฟ้า นกกะรางหัวแดง นกจาบคาเคราน้ำเงิน และนกปรอดหัวตาขาว ในขณะเดียวกันนกก็สามารถพบนกที่อาศัยอยู่เฉพาะในป่าทางภาคใต้ก็กระจายพันธุ์ขึ้นมาถึงด้วยจำนวน ๕๓ ชนิด เช่น นกกะเต็นน้อยแถบอกดำ นกหัวขวานเขียวคอเขียว เหยี่ยวแมลงปอขาดำ นกเงือกหัวหงอก นกจาบคาเคราแดง และนกเขียวปากงุ้ม นอกจากนี้ ผืนป่าทางด้านตะวันตกยังเป็นแหล่งอาศัยของนกป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น เป็ดก่า นกยูง และนกอ้ายงั่ว ตลอดจนนกกินซาก เช่น พญาแร้ง อีกด้วย
๓. เขตที่ราบลุ่มภาคกลางพื้นที่ตอนกลางของประเทศมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มล้อมรอบด้วยพื้นที่สูง ๓ ด้านคือ ทิศตะวันตกและทิศเหนือมีเทือกเขาทางภาคตะวันตกและภาคเหนือ ทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีเทือกเขาเพชรบูรณ์กับเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นแนวขอบ ส่วนทางด้านทิศใต้จรดอ่าวไทยมีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำ
บางปะกงภูมิภาคนี้เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ ในอดีตเคยเป็นแหล่งอาศัยและหากินของนกน้ำขนาดใหญ่หลายชนิด เช่น นกกระทุง นกตะกรุม และนกกระเรียน แต่เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและแหล่งชุมชน ทำให้พื้นที่อาศัยและหากินของนกลดลง การพบเห็นนกน้ำขนาดใหญ่จึงยากขึ้นทุกที อย่างไรก็ตาม ก็ยังสามารถพบนกน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กได้บ่อย เช่น นกยาง นกอัญชัน นกอีโก้ง และนกกาน้ำ รวมทั้งนกปากห่างซึ่งมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการแพร่กระจายพันธุ์ของหอยเชอรี่จำนวนมากตามท้องทุ่งซึ่งเป็นแหล่งอาหารอย่างดีของนกปากห่าง
ช่วงฤดูหนาวสามารถพบนกอพยพได้หลายชนิด เช่น นกเป็ดน้ำ และนกชายเลนที่ต้องอาศัยหนองน้ำจืด หาดโคลนและหาดทรายชายทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนในเป็นแหล่งพักหาอาหารก่อนเดินทางลงใต้ต่อไป สำหรับแนวขอบชายฝั่งทะเลซึ่งมีป่าชายหาดร่วมกับป่าชายเลน เป็นแหล่งหากินที่สำคัญของนกอพยพย้ายถิ่นขนาดเล็กที่อพยพลงไปสู่ภาคใต้ เช่น นกแซวสวรรค์หางดำ นกอีเสือลายเสือ และนกจับแมลงชนิดต่าง ๆ นกชนิดสำคัญที่พบเฉพาะภูมิภาคนี้คือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร มีรายงานการพบที่บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นนกที่มีข้อมูลน้อยมากและไม่มีรายงานการพบเห็นมานานแล้วจัดเป็นนกใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งและยังเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทยอีกด้วย
๔. เขตที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะเป็นที่ราบสูงเป็นแอ่งกระทะลาดเอียงไปสู่ทางทิศตะวันออก ด้านตะวันตกของภูมิภาคนี้มีเทือกเขาเพชรบูรณ์และเทือกเขาดงพญาเย็น ด้านทิศใต้เป็นเทือกเขาสันกำแพงและเทือกเขาพนมดงรักค่อย ๆ ลาดลงไปทางด้านทิศตะวันออก ทำให้แม่น้ำทุกสายในภูมิภาคนี้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ระดับความสูงโดยเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ไม่เกิน ๒๓๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ทางตอนกลางมีแนวเทือกเขาภูพานลากผ่านในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออก ลักษณะดังกล่าวทำให้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วนคือ แอ่งสกลนครตอนบนซึ่งมีแม่น้ำสงครามเป็นแม่น้ำสายหลัก และแอ่งโคราชทางตอนล่างมีแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีเป็นแม่น้ำสายหลัก
ภูมิภาคนี้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยมนุษย์มาเป็นเวลานาน ทำให้มีป่าธรรมชาติเหลืออยู่มีไม่มากนัก สภาพป่าที่ยังสมบูรณ์ยังคงหลงเหลืออยู่ตามเขตภูเขายอดตัดที่มีความสูงระหว่าง ๑,๓๐๐-๑,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลทางตอนเหนือของภูมิภาค เช่น ภูกระดึง ภูเขียว ภูเวียง สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง ป่าสนเขา ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา นกส่วนใหญ่ที่พบในภูมิภาคนี้มความสัมพันธ์กับนกในแถบอินโดจีน บางชนิดเป็นนกที่ไม่พบในภูมิภาคอื่นเลย เช่น นกเด้าลมแม่น้ำโขง และนกนางแอ่นมาตินพันธุ์เนปาล นกหลายชนิดยังเป็นชนิดย่อยที่พบเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ซึ่งมีความแตกต่างไปจากชนิดย่อยที่พบในภูมิภาคอื่น นอกจากนี้ แหล่งน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งทางตอนใต้ของภูมิภาค เช่น อ่างเก็บน้ำสนามบิน ห้วยตลาดและห้วยจระเข้มาก ยังเป็นแหล่งพักหากินของนกที่บินอพยพระหว่างประเทศอินเดียและพม่ากับแหล่งสร้างรังวางไข่ในทะเลสาบเขมร เช่น นกกระเรียน นกตะกราม และนกกระทุง
๕. เขตชายฝั่งตะวันออก
เขตชายฝั่งตะวันออกสภาพธรรมชาติอันหลากหลาย ทั้งที่ราบ ภูเขาสูง และชายฝั่งทะเล โดยมีภูเขาและที่สูงเชิงเขาทางตอนกลางของพื้นที่ ส่วนที่ราบด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ติดกับชายฝั่งอ่าวไทย เทือกเขาที่สำคัญคือ เทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาจันทบุรี ซึ่งต่อเนื่องมาจากแนวเทือกเขาคาร์ดามอนและเทือกเขาอันนัมในกัมพูชาและเวียดนามที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดเป็นแนวปะทะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านมาจากอ่าวไทย จึงมีฝนตกชุกและลักษณะภูมิอากาศคล้ายคลึงกับทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า ๔,๐๐๐ มิลลิเมตร/ปี สภาพเช่นนี้ส่งผลให้มีชนิดพืชพรรณ และป่าไม้คล้ายคลึงกับทางภาคใต้ใต้ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดจันทบุรีและตราด ทำให้พบนกบางชนิดที่แพร่กระจายอยู่ในป่าของคาบสมุทรมลายูด้วย ในภูมิภาคนี้สามารถพบนกเหมือนกับทางภาคใต้จำนวน ๑๔ ชนิด เช่น นกแว่นตาขาวสีเหลืองปักษ์ใต้ และนกปรอดโอ่งท้องสีน้ำตาล
นกในภูมิภาคนี้มีความคล้ายคลึงกับนกทางตอนใต้ของอินโดจีน จึงมีทั้งนกที่เป็นชนิดและชนิดย่อยเหมือนกันหลายชนิด นกที่พบเฉพาะในเขตนี้ได้แก่ นกกระทาดงจันทบูร นกแต้วแล้วใหญ่หัวสีน้ำเงิน นกแต้วแล้วเขียวเขมร นกสาลิกาเขียวหางสั้น และนกมุ่นรกคิ้วดำ
๖. เขตคาบสมุทรภาคใต้หรือแหลมมลายูพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทยมีลักษณะเป็นคาบสมุทรที่ขนาบด้วยมหาสมุทรอินเดีย (ทะเลอันดามัน) และอ่าวไทย ภูมิภาคนี้มีแนวเทือกเขาเป็นแกนสำคัญวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ อยู่ค่อนไปทางด้านทิศตะวันตกคือ เทือกเขาตะนาวศรีตอนใต้และเทือกเขาภูเก็ต ส่วนทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีแม่น้ำสำคัญหลายสายโดยมีเทือกเขานครศรีธรรมราชขนานไปกับเทือกเขาภูเก็ต ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชไปจนถึงจังหวัดสตูล มียอดเขาสูงที่สุดคือ เขาหลวงในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งมีความสูง ๑,๘๓๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล ทางด้านใต้สุดมีเทือกเขาสันกาลาคีรีกั้นพรมแดนไทยกับมาเลเซีย
ภูมิประเทศของภาคใต้รับลมมรสุมจากทั้ง ๒ ด้าน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า ๒,๐๐๐-๔,๐๐๐ มิลลิเมตร/ปี ไม่มีฤดูหนาวที่แท้จริง ทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมต่อการเกิดและการคงอยู่ของสังคมป่าดิบชื้นรกทึบ และป่าดิบที่ราบต่ำปกคลุมทั่วบริเวณ เช่น ป่าดิบเขาหลวง ป่าคลองแสง-เขาสก ป่าเขาบรรทัด และป่าฮาลา-บาลา
ชนิดนกที่พบในคาบสมุทรภาคใต้ จัดเป็นนกที่อาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำและป่าดิบชื้น มีนกที่อาศัยอยู่ในเขตซุนดา (Sundaic birds) ของประเทศอินโดนีเซียกระจายพันธุ์ผ่านทางประเทศมาเลเซียขึ้นมาด้วย จากลักษณะของภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันออกไปจากพื้นที่อื่น ทำให้นกที่พบในภาคใต้ทั้งสิ้น ๑๘๐ ชนิด มีนกที่ไม่พบในภูมิภาคใดเลยของประเทศไทยมากถึง ๑๑๔ ชนิด หรือ ประมาณ ๖๓% ของนกที่พบในภาคใต้ นกที่พบส่วนใหญ่เป็นนกป่าที่มีสีสันสวยงาม เช่น นกในวงศ์นกแต้วแล้ว นกพญาปากกว้าง และนกขุนแผน ผศ.ดร.ชนิดที่โดดเด่นคือ นกแต้วแล้วท้องดำ ซึ่งเหลืออยู่จำนวนไม่มากนักในป่าที่ราบต่ำของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จังหวัดกระบี่ และทางภาคใต้ของประเทศพม่าเท่านั้น
นกหลายชนิดพบได้เฉพาะในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นป่าผืนเดียวกันกับป่าในประเทศมาเลเซีย มีสภาพเป็นป่าดิบชื้นแบบมลายู (Himalayan rain forest) ที่มีความแตกต่างไปจากบริเวณ
อื่น ๆ ทำให้นกบางชนิดไม่พบในบริเวณอื่น ๆ เลย เช่น นกแต้วแล้วแดงมลายู นกกินแมลงปากหนา และนกกะปูดนิ้วสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณภูเขาสูงในเขตจังหวัดยะลา มีรายงานการพบนกชนิดใหม่ของไทยหลายชนิด ได้แก่ นกแว่นภูเขา นกไต่ไม้สีน้ำเงิน และนกโพระดกคิ้วดำ ซึ่งนกเหล่านี้เป็นนกที่พบเห็นเป็นประจำบนภูเขาในประเทศมาเลเซีย
ป่าพรุ ซึ่งเป็นป่าที่มีเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่ก็เป็นแหล่งอาศัยของนกบางชนิดซึ่งพบได้ง่ายในป่าประเภทนี้เท่านั้น เช่น นกเค้าแดง นกกางเขนดงหางแดง และนกจับแมลงป่าพรุ
ชายฝั่งทะเลทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามันยังมีหาดทรายและป่าชายเลนปากแม่น้ำ เป็นแหล่งอาศัยของนกที่พบเฉพาะป่าโกงกาง และหาดทราย เช่น นกหัวโตมลายู นกแต้วแล้วป่าชายเลน นกกะเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล นกจับแมลงป่าโกงกาง นกยางจีน และนกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส
ที่มาhttp://www.animal.mju.ac.th/E_book/t_prapakorn/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%20%E0%B9%91%20%20%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น