บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่่่อในการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เนตในชีวิตประจำวันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขอขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงในประเทศไทย

ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงในประเทศไทย
ประวัติการศึกษาแมลงในประเทศไทย
       นักสำรวจรวบรวมตัวอย่างแมลงในประเทศไทยสมัยก่อน เป็นชาวต่างประเทศและส่วนใหญ่
เป็นชาวยุโรป โดยเข้ามาสำรวจธรรมชาติวิทยาโดยตรง หรือเข้ามาด้วยธุรกิจอย่างอื่น เช่น
ค้าขายหรือติดต่อราชการ ในขณะเดียวกันได้รวบรวม ตัวอย่างแมลงเป็นงานอดิเรกไปด้วย
แมลงที่เก็บส่วนใหญ่เป็นแมลงสวยงาม เช่น ผีเสื้อ แมลงปอ หรือด้วงชนิดต่างๆ ตัวอย่างแมลง
ที่เก็บได้เอาไว้เป็นสมบัติส่วนตัว หรือส่งไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของประเทศเขา
ไม่มีผู้ใดทราบว่าชาวต่างประเทศเข้ามาสำรวจแมลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด เท่าที่มีหลักฐาน
ปรากฎพบว่า ในปี พ.ศ.2330 ซึ่งเป็นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ Fabricius นักธรรมชาติวิทยา
ชาวเดนมาร์กได้ศึกษาพบว่าผีเสื้อที่จับจากประเทศไทย 4 ชนิด เป็นผีเสื้อชนิดใหม่ ไม่มีผู้ใดเคย
ตั้งชื่อให้ไว้ก่อนจึงได้ทำการตั้งชื่อว่า Papilio arcesilaus, P. cocles, P. periander
และ P. allica  ผีเสื้อทั้ง 4 ชนิดนี้ถือว่าเป็นแมลงพวกแรกของประเทศไทยที่ได้รับการตั้งชื่อ
(Godfrey,1930)
       ในปี พ.ศ.2469 Mr. W.R.S.Ladell ชาวอังกฤษผู้ซึ่งเข้ามารับราชการในกระทรวงเกษตร
ของประเทศไทย ได้เก็บรวบรวมตัวอย่างแมลงศัตรูพืชเศรษฐกิจในขณะนั้น มาจำแนกชนิด
เป็นครั้งแรกได้ 69 ชนิด (Ladell,1927) ต่อมาได้ศึกษาแมลงศัตรูพืชเพิ่มเติมอีกหลายชนิด
(Ladell,1928,1933) ตัวอย่างแมลงที่ Mr. Ladell ศึกษานี้ได้รวบรวมเก็บเป็นพิพิธภัณฑ์-
แมลง เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง "แผนกกีฏวิทยา" ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่ทำการศึกษาวิจัย
เกี่ยวกับแมลงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย แผนกกีฏวิทยานี้ได้เจริญพัฒนามาเป็นกองกีฏและ
สัตววิทยา กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน ส่วนพิพิธภัณฑ์แมลงในสังกัดได้เจริญเติบโตมาเป็น
พิพิธภัณฑ์แมลงที่มีข้อมูลทางด้านแมลงมากที่สุดในประเทศไทย (องุ่น ลิ่ววานิช,2534)
จำนวนชนิดแมลงในโลก
       ไม่มีผู้ใดทราบแน่นอนถึงจำนวนชนิดแมลงทั้งหมดในโลกนี้หรือแม้กระทั่งจำนวนชนิดแมลง
ที่ศึกษาทราบชื่อแล้วว่ามีเท่าใด (Solis,1999) เฉพาะในส่วนของแมลงที่ทราบชื่อแล้ว Mayr
(1969) และ Wheeler (1990) คาดคะเนว่ามีประมาณ 750,000 ชนิด ซึ่งใกล้เคียงกับ
Wilson (1992) ที่กล่าวว่ามีประมาณ 751,000 ชนิด ในขณะที่ Romoser and
Stoffolano (1998) อ้างถึงผลการศึกษาของ Samways เมื่อปี 1994 ว่าแมลงที่ทราบชื่อ
แล้วในโลกนี้มีประมาณ 750,000–950,000 ชนิด  Mayr (1969) ได้เปรียบเทียบถึงจำนวน
ชนิดแมลงกับจำนวนชนิดของสัตว์อื่นๆที่ทราบชื่อแล้ว รวมได้ทั้งหมด ประมาณมากกว่า 1 ล้าน
ชนิด ตามตารางที่ 1  (After Mayr, 1969)
       จำนวนชนิดของสัตว์ที่พบขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของข้อมูลของสัตว์แต่ละกลุ่มที่ทำการศึกษา
เช่น นกเป็นกลุ่มที่มีข้อมูลในการศึกษามาก โดยได้รับการจำแนกชนิดไว้แล้วสมบูรณ์ที่สุดถึง
99% สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้รับการศึกษาวิเคราะห์ชนิดไว้แล้ว 90%
ส่วนสัตว์จำพวกขาปล้อง (Arthropoda) ซึ่งรวมทั้งแมลงซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากได้รับการ
จำแนกชนิดไว้น้อยมากไม่ถึง 10% ของจำนวนชนิดแมลงทั้งหมด จากคำถามว่าในโลกนี้
มีจำนวนชนิดแมลงทั้งหมดเท่าใดยังไม่มีผู้ใดให้คำตอบได้ Wheeler (1990) คาดคะเนว่า
มีประมาณ 2 เท่าของจำนวนชนิด แมลงที่ทราบชื่อแล้ว คือประมาณ 1.5 ล้านชนิด ในขณะที่
William (1964) กล่าวว่ามีประมาณ 3 ล้านชนิด ส่วน Stork (1997) และ Hammond
(1997) สันนิษฐานว่ามีประมาณ 5 – 15 และ12.5 ล้านชนิด ตามลำดับ Erwin (1982)
ซึ่งได้เคยไปสำรวจด้วงปีกแข็งแถบป่าเขตร้อนของประเทศเปรู คำนวณว่าแมลงทั้งหมดในโลกนี้
ประมาณ 30 ล้านชนิดและอาจมากถึง 50 ล้านชนิด (Erwin,1988)
จำนวนชนิดแมลงในประเทศไทย
       ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศเหมาะสมในการเจริญเติบโตของ
สิ่งมีชีวิต จึงพบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมาก (Ogawa and Yoda,1961) ทางด้าน
แมลงยังไม่มีผู้ใดศึกษาว่ามีจำนวนชนิดทั้งหมดเท่าใดเช่นเดียวกับจำนวนชนิดของแมลงที่
ทราบชื่อแล้ว ซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายตามสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและเอกชนทั้ง
ภายในและต่างประเทศไม่สามารถรวบรวมให้ทราบจำนวนชนิดที่แน่นอนได้ แต่อย่างไรก็ตาม
แมลงของประเทศไทยส่วนใหญ่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แมลงของกองกีฏและสัตววิทยา
กรมวิชาการเกษตร ดังนั้นในการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับแมลงของประเทศต่างๆ จะใช้ข้อมูล
จากพิพิธภัณฑ์แมลงของกรมวิชาการเกษตรเป็นตัวแทนของแมลงจากประเทศไทย จำนวน
ชนิดแมลงที่มีชื่อแล้วในอันดับ (Order) ต่างๆที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์แมลง กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร มีรายละเอียดตามตารางที่ 2

ที่มาhttp://www.sa.ac.th/biodiversity/contents/5insect/chapter_5.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น