บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่่่อในการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เนตในชีวิตประจำวันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขอขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงป่าไม้ในประเทศไทย (Forest Insect Biodiversity in Thailand)

ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงป่าไม้ในประเทศไทย (Forest Insect Biodiversity in Thailand)
            แมลงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีชนิดและปริมาณมากที่สุดในโลก ซึ่งแมลงแต่ละชนิดนั้นอาศัยและปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมหนึ่งๆ ที่เหมาะสมกับตัวมันได้อย่างดี จนเป็นที่ยอมรับว่าแมลงนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวได้ยอดเยี่ยมที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ดังเช่นการปรับตัวเพื่อการพรางตัวเองให้รอดพ้นจากสายตาของผู้ล่าหรือพรางตัวเพื่อมิให้เหยื่อมองเห็น การมีสีสรรที่ทำให้มองเห็นว่าตัวมันตัวใหญ่หรือน่าเกรงขาม การปรับอวัยวะส่วนต่างๆ ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมโดยรอบ  นอกจากนั้น วงจรชีวิต (Life Cycle) ของแมลงก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตประเภทนี้ประสบความสำเร็จในการขยายเผ่าพันธุ์ โดยทั่วไปวงจรชีวิตของแมลงแต่ละชนิดมีวงจรชีวิตที่สั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำให้สามารถปรับตัวและมีวิวัฒนาการที่สามารถมองเห็นได้ชัดภายในระยะเวลาที่ไม่นาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่การดื้อยาของแมลงศัตรูทางการเกษตรจากการใช้สารเคมีอย่างหนักเพื่อปราบแมลงศัตรูเหล่านี้ เป็นต้น ขนาดของแมลงนั้นเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันโดยทั่วไปเช่นกัน บางชนิดมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าต้องใช้กล้องจุลทรรศในการมอง เช่นไร, เพลี้ยบางชนิด เป็นต้น ในขณะที่แมลงบางชนิดมีขนาดใหญ่มาก เช่นด้วงกว่างบางชนิดในแถบทวีปอเมริกาใต้ และตั๊กแตนยักษ์ในประเทศนิวซีแลนด์ที่อาจจะมีขนาดใหญ่กว่ากระต่ายป่าทั่วไป แมลงจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับต้นของห้วงโซ่อาหารในระบบนิเวศและมีบทบาทสำคัญเช่นช่วยในการผสมเกสร นอกจากนั้นยังเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการผุพังย่อยสลายในระบบนิเวศ แมลงหลายชนิดมีประโยชน์ในทางการแพทย์ ในการศึกษา เป็นอาหารและยารักษาโรค แต่ในขณะเดียวกันแมลงบางชนิดก็มีโทษต่อมนุษย์เช่นกัน เช่นเป็นพาหะนำโรค เป็นศัตรูทางการเกษตร เป็นต้น
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร มีสังคมพืชที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคทั้งสังคมพืชป่าผลัดใบ (Deciduous Forest) และสังคมพืชป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen Forest) ซึ่งสังคมพืชเหล่านี้พบอยู่ในพื้นที่ที่หลากหลายแตกต่างกันไปตั้งแต่บริเวณระดับน้ำทะเล (เช่นป่าชายเลน, ป่าชายหาด) เรื่อยไปจนถึงบริเวณยอดเขาสูง (เช่นป่าดิบเขา, ป่าสนเขา) จากความหลากหลายของสังคมพืชที่ปรากฏอยู่อย่างมากมายหลายชนิดในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อความหลากหลายของแมลงที่อาศัยอยู่เช่นเดียวกันอันเนื่องมาจากพืชอาหารที่ปรากฏอยู่ในแต่ละสภาพทางนิเวศที่แตกต่างกัน แมลงบางชนิดพบอยู่เฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขาสูงและมีอากาศหนาวเย็นเท่านั้น บางชนิดพบอยู่เฉพาะบริเวณหนองน้ำที่สะอาด เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีแมลงอีกหลายชนิด ทั้งที่เรารู้จักและไม่รู้จักอาศัยอยู่ได้ในสภาพทางนิเวศที่หลากหลาย เช่นพบอยู่ตั้งแต่ป่าชายเลนจนถึงป่าดิบเขาในพื้นที่สูง เป็นต้น  แหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงนั้นไม่ได้มีอยู่เฉพาะบนบกหรือตามต้นไม้ทั่ว ไปเท่านั้น อาจจะกล่าวได้ว่า ทุกที่ทุกแห่งหนล้วนมีแมลงอาศัยอยู่แทบทั้งสิ้น ตั้งแต่ลึกลงไปใต้ผิวดิน ตามต้นไม้ กิ่งไม้ เศษไม้ท่อนไม้ที่เน่าเปื่อย ในแม่น้ำน้ำ ในทะเลลึก แม้แต่ยอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมก็ตาม
 ความหลากหลายของแมลงป่าไม้
หากมีใครสักคนตั้งคำถามว่า "สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้มีกี่ชนิด?" คงไม่มีใครที่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างแน่นอน สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ถูกค้นพบและมีการจำแนกชนิดและตั้งชื่อกันอยู่เกือบทุกวัน สำหรับแมลงก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีแมลงที่ถูกค้นพบและจำแนกชนิดเป็นหมวดหมู่ที่ถูกต้องแล้วประมาณ 100,000 ชนิด เท่านั้น ยังคงมีแมลงอีกจำนวนมากที่รอการค้นพบและจำแนกชนิด ในการศึกษาทางด้านการจำแนกชนิดของสิ่งมีชีวิตหรืออนุกรมวิธาน (Taxonomy) นั้น พบว่าแมลงที่พบในปัจจุบันมีอยู่มากถึง 26 Order มากกว่า 100 Family ซึ่งมีมากกว่าสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆ มากมายหลายเท่านัก
ความหลากหลายของแมลงป่าไม้ในท้องที่ อ. งาว จ. ลำปาง
ในท้องที่อ . งาว จ. ลำปาง ได้มีการศึกษาและเก็บตัวอย่างแมลงป่าไม้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีมาแล้ว ตัวอย่างแมลงในกลุ่มต่างๆ มีอยู่อย่างมากมาย แต่เนื่องจากการจำแนกแมลงในแต่ละกลุ่มนั้นจำเป็นต้อใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีความชำนาญอย่างมาก ดังนั้นตัวอย่างแมลงในหลายกลุ่มจึงยังไม่ได้มีการจัดจำแนกเป็นหมวดหมู่และตรวจสอบชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตามมีแมลงบางกลุ่มที่สามารถจำแนกได้ง่ายเนื่องจากมีคู่มือการจำแนกชนิดที่สมบูรณ์ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงได้มีการจำแนกชนิดผีเสื้อกลางวัน และมดที่สำรวจพบในเขตพื้นที่อ. งาว จ. ลำปาง ซึ่งพบว่า มีผีเสื้อกลางวันที่พบในพื้นที่แห่งนี้อย่างน้อย 136 ชนิด และมีมดที่พบอย่างน้อย 108 ชนิด ซึ่งมีการสำรวจพบมดชนิดใหม่ในของโลกพื้นที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน โดยมดชนิดใหม่นี้มีการสำรวจพบครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ. ตาก โดย รศ. เดชา วิวัฒน์วิทยา แห่งคณะวนศาสตร์ มหาวิทาลัยเกษตรศาสตร์ และมีการสำรวจพบมดชนิดใหม่นี้เป็นครั้งที่ 2 ในบริเวณพื้นที่สงวนชีวมณฑลห้วยทาก-ถ้ำผาไท มดชนิดนี้อยู่ในระหว่างการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ สำหรับแมลงกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถจำแนกชนิดได้นั้นคาดว่าจะมีจำนวนชนิดอีกไม่น้อยกว่า 500 ชนิด ที่พบในพื้นที่แห่งนี้
 ปัญหาของความหลากหลายของแมลงป่าไม้ในประเทศไทย
จากการขยายตัวของประชากรในประเทศ ทำให้ความต้องการในพื้นที่เพื่อการเกษตรทำกินของประชาชนมีมากขึ้น แต่ทรัพยากรพื้นที่ในการทำการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม ทำให้พื้นที่อาศัยตลอดจนพืชอาหารของแมลงได้รับความกระทบกระเทือน ส่งผลต่อแมลงบางชนิดโดยอาจจะทำให้สูญพันธุ์ไปได้ นอกจากนี้ปัญหาไฟป่าที่รุนแรงก็ส่งผลต่อพืชอาหารเช่นกัน ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาได้แก่การขาดความสมดุลของระบบนิเวศ ทำให้เกิดมีประชากรของสิ่งมีชีวิตบางอย่างที่มากเกินไปจากการที่ประชากรของสิ่งมีชีวิตบางชนิดลดปริมาณลงไป สำหรับการใช้สารพิษของมนุษย์เพื่อกำจัดแมลงศัตรูทางการเกษตรก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้แมลงอีกหลายชนิดต้องหมดไปจากพื้นที่โดยที่มนุษย์ผู้ใช้นั้นไม่ทราบ ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความหลากหลายของแมลงในปัจจุบันก็คือ
การค้าขายแมลงที่ปรากฎอยู่ตามตลาดการค้าที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยนมเดินทางไปเที่ยวหลายแห่ง เช่นตลาดไนท์บาซาร์ และตลาดขายของที่ระลึกทั่วไป ซึ่งรูปแบบของแมลงที่มีการซื้อขายนั้นเป็นแมลงที่ไม่มีชีวิตโดยการสตาฟแห้งใส่ในกรอบรูป, การอัดอยู่ในเรซิ่น, การทำเป็นเครื่องประดับเช่นเข็มกลัด, การทำเป็นพวงกุญแจ และการเก็บในซองกระดาษสามเหลี่ยมสำหรับนักสะสมแมลงนำไปเก็บสะสม โดยมีการลักลอบจับแมลงหลายชนิดที่มีลักษณะแปลก สวยงาม ที่เป็นที่ต้องการของนักสะสมของแปลก มาจำหน่ายอย่างเปิดเผย โดยการจับแมลงดังกล่าวมักจะมีการว่าจ้างชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่ป่าเป็นผู้จับโดยมีราคาของแมลงแต่ละชนิดที่ต้องการในราคาสูงที่ชักจูงให้ชาวบ้านจับมาขายแก่พ่อค้า การลักลอบค้าแมลงนี้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในปัจจุบัน การลักลอบค้าแมลงในลักษณะนี้ส่งผลให้แมลงที่แปลกหลายชนิดมีปริมาณลดลงไปมาก บางชนิดแทบจะไม่มีการพบเห็นเลยหรือหาได้ยากมากในธรรมชาติในปัจจุบัน ตัวอย่างแมลงบางชนิดที่เคยมีรายงานการพบในอดีตแต่ปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดว่าหมดไปจากประเทศไทยแล้ว ได้แก่ ผีเสื้อภูฐานหรือผีเสื้อสมิงเชียงดาว (Bhutanitis lidderdalei ocellatomaculata) ที่เคยพบบริเวณยอดดอยเชียงดาวเท่านั้น แต่เนื่องจากพื้นที่อาศัย พืชอาหารถูกทำลายจากการทำไร่เลื่อนลอยและการจับแมลงชนิดนี้ไปขายเป็นจำนวนมาก ทำให้แมลงชนิดนี้หมดไปจากประเทศไทยไปโดยสิ้นเชิง คงมีแต่เฉพาะตัวอย่างที่อยู่ตามพิพิธภัณฑ์แมลงบางแห่งเท่านั้นให้เราได้เห็น นอกจากนี้แมลงอีกหลายชนิดก็กำลังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกันว่าอาจจะสูญพันธุ์หรือหมดจากประเทศไทยไปได้ในระยะเวลาอันใกล้หากไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาเพื่อควบคุมดูแลทรัพยากรแมลงอันมีค่าของประเทศเหล่านี้
 
แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายของแมลงในประเทศไทย
ในอดีตนั้น แมลงไม่ได้จัดเป็นสัตว์ป่าตามนัยแห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 จึงไม่มีกฎหมายใดที่ช่วยในการคุ้มครองดูแลทรัพยากรแมลงของประเทศในอดีต ทำให้ทรัพยากรเหล่านี้ถูกรบกวนและนำมาใช้ประโยชน์อย่างขาดการควบคุมจนส่งผลให้แมลงบางชนิดหมดไปจากประเทศไทย ในขณะที่บางชนิดอยู่ในสถานภาพที่น่าเป็นห่วงว่าจะหมดไปในระยะเวลาอันใกล้ ต่อมาเมื่อมีการแก้ไขพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ใหม่ ประกอบกับกระแสของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมีมากขึ้น จึงได้กำหนดให้แมลงเป็นสัตว์ป่าตามนัยแห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว อีกทั้งมีการประกาศรายชื่อแมลงบางชนิดให้เป็นสัต์ป่าคุ้มครอง ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 20 ชนิด (ผีเสื้อกลางวัน 16 ชนิด ผีเสื้อกลางคืน 4 ชนิด ด้วง 4 ชนิด)  โดยแมลงเหล่านี้ผู้ใดจะมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้ สำหรับกระแสความเป็นห่วงทรัพยากรแมลงนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่ภายในประเทศเท่านั้น ในระดับนานาชาตินั้นได้มีการตั้ง อนุสัญญา CITES ขึ้น เพื่อกำหนดควบคุมการค้าขายซึ่งชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่าที่หายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายไม่ให้มีการนำแมลงจากธรรมชาติมาเพื่อการซื้อขาย ซึ่งมีแมลงที่อยู่ในบัญชีของอนุสัญญาดังกล่าว 48 ชนิด จำแนกเป็นแมลงที่อยู่ในบัญชี CITES APPENDIX I  4 ชนิด (ไม่มีแมลงของประเทศไทย) และบัญชี CITES APPENDIX II 44 ชนิด (มีแมลงที่พบในประเทศไทยประมาณ 6 ชนิด)โดยมีแมลงที่พบในประเทศไทยที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของ CITES APPENDIX II ได้แก่ผีเสื้อภูฐาน (Bhutanitis lidderdalei ocellatomaculata) ผีเสื้ออิมพีเรียลหรือผีเสื้อไกเซอร์ (Teinopalpus spp.) และผีเสื้อถุงทองทุกชนิด (Troides spp.) ซึ่งการจะนำแมลงเหล่านี้ส่งออกหรือนำเข้าในประเทศใดก็ตามต้องมีการรับรองยืนยันจากหน่วยงาน CITES ของประเทศนั้นก่อน จึงจะนำผ่านแมลงเหล่านั้นได้ต่อไป นอกจากมาตรการควบคุมทางด้านกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้แล้ว การช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรถิ่นที่อยู่อาศัยของแมลงให้คงอยู่ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายของแมลงในประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง การไม่สนับสนุนการซื้อขายแมลงแปลกๆ หรือแมลงสวยงามนั้นเป็นสิ่งที่ควรตระหนักถึงให้มากเพราะหากไม่มีผู้ต้องการซื้อแล้ว ก็จะไม่มีการนำมาขายอย่างแน่นอน นอกจากนี้การส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงแมลงบางชนิดเพื่อการค้าและให้มีการจดทะเบียนฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงจัดว่าเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่จะช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรแมลงในสภาพธรรมชาติให้คงอยู่ได้อย่างปลอดภัย

ที่มาhttp://www.dnp.go.th/FOREMIC/NForemic/research/Paper/ins_biodiversity.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น