บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่่่อในการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เนตในชีวิตประจำวันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขอขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความหลากหลายของปลาน้ำจืดในประเทศไทย

ความหลากหลายของปลาน้ำจืดในประเทศไทย
วงศ์ปลาฉนาก ( Family Pristidae )

เป็นปลากระดูกอ่อนที่มีลักษณะเด่นคือ มีจงอยปากยาวยื่น และมีฟันเลื่อย แหลมคมอยู่ 2 ด้านข้าง ส่วนหัวและ อกแบบนราบเล็กน้อย ตาเล็กมีช่องน้ำอยู่หลังตา ปากเล็กอยู่ด้านล่าง มีฟันเป็นเม็ดแข็งใช้ขบหอย ปู ที่เปลือกแข็งได้ และยังใช้จะงอยปากในการฟาดปลาที่เป็นเหยื่อและต่อสู้ศัตรู มีรูปร่างคล้ายปลาฉลามแต่มีครีบอกที่แผ่กว้างติดต่อกับส่วนหัว ช่องเหงือกอยู่ด้านล่างของลำตัวเช่นเดียวกับปลากระเบน ครีบหลัง 2 อัน มีปลายเรียวโค้งขนาดเท่าๆกัน ไม่มีครีบก้น ครีบหางบนยาวกว่าซีกล่าง ชนิดที่เคยมีรายงานพบในบึงบอระเพ็ดเพียงครั้งเดียวคือ ปลาฉนากจะงอยกว้าง Pristis microdon ซึ่งปกติเป็นปลาทะเล แต่ก็พบเข้ามาอยู่ในน้ำจืดเป็นบางครั้ง ปลาฉนากเคยพบเป็นครั้งคราวในแม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำสายอื่นๆ ตอนล่าง และ พบบ่อยในทะเล ชายฝั่งของเขตอินโด – แปซิฟิค แต่ปัจจุบันเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ และ ไม่พบมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี แล้ว ในน่านน้ำไทย เนื่องจากถูกล่า และมลภาวะในแม่น้ำ

วงศ์ปลากระเบน ( Family Dasyatidae )

เป็นปลากระดูกอ่อนที่พบได้ทั้งในทะเลและในน้ำจืด มีรูปร่างที่แบนราบ มีส่วนครีบอกที่แผ่กว้างกลมรอบตัว ปากอยู่ด้านล่าง ตาอยู่ด้านบนมีช่องน้ำเข้า 1 คู่ อยู่ด้านหลัง ปลากระเบนมีส่วนหางที่เป็นเส้นยาว ที่โคนหางมีเงี่ยงอยู่ 1-2 อัน เป็นอาวุธที่สำคัญของมัน เพราะมีพิษแรงเมื่อแทงเข้าไปในเนื้อศัตรูรวมถึงคนที่จับมันโดยไม่ระมัดระวังด้วย ผิวหนังปลากระเบนเรียบนิ่มไม่มีเกล็ด ยกเว้นบริเวณกลางหลัง ปลากระเบนมีขากรรไกร และ ฟันที่แข็งแรงใช้บดขบสัตว์เปลีอกแข็งได้ดี มักอาศัยอยู่บริเวณพื้นท้องน้ำแต่ก็ว่ายขึ้นมาหากินบนผิวน้ำได้ ในประเทศไทยพบปลากระเบนน้ำจืด ชนิดต่างๆ เช่น ราหูน้ำจืด และ กระเบนขาว

วงศ์ปลากราย


เป็นปลาที่ค่อนข้างโบราณ เพราะมีลักษณะคล้ายกับปลาดึกดำบรรพ์ ที่สูญพันธ์ไปแล้วบางชนิด มีรูปร่างแบนข้างมาก เรียวไปทางด้านท้าย ครีบหลังอันเล็ก ครีบก้นและครีบหางยาวติดต่อกัน มันจึงใช้ครีบก้นอันยาวนี้โบกพริ้วในการว่ายน้ำ ครีบท้องเล็กมาก ปากกว้าง มีเกล็ดเล็กละเอียด เวลาวางไข่ตัวผู้ และ ตัวเมียช่วยกันดูแล โดยวางไข่ติดกับตอไม้ แล้วจะเลี้ยงลูกจนเติบโต พอที่จะช่วยตนเองได้จึงปล่อยไป เป็นปลากินเนื้อ ที่เคยพบในประเทศไทยเช่น ปลาสลาด , ปลากราย , ปลาสะตือ

วงศ์ปลาตูหนา ( Family Anguillidae ) หรือ ปลาไหลทะเล


เป็นปลาไหลแท้ที่มีวงจรชีวิตส่วนหนึ่งต้องออกไปวางไข่ในทะเลลึก แล้วตัวอ่อนจึงล่องลอยกลับมาเลี้ยงตัวที่ชายฝั่งก่อนเข้ามาเติบโตในน้ำจืดที่ไกลจากทะเลนับร้อยกิโลเมตร ปลาตูหนามีปากกว้าง มีเขี้ยวเล็กละเอียดบนขากรรไกร ครีบอกเป็นรูปกลมรี มีครีบหลังยาวติดต่อกับครีบหางที่มน และ ครีบก้นที่ยาว แม้ดูเผินๆ ว่าไม่มีเกล็ดมีเมือกลื่นหุ้มตัว แต่ที่จริงมันก็มีเกล็ดขนาดเล็กมากเรียงซ้อนฝังอยู่ใต้ผิว เป็นปลานักล่าเหยื่ออีกชนิดหนึ่งที่สามารถจับกุ้ง ปู เปลือกแข็งกินได้ รวมถึงปลาชนิดต่างๆ มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ใส มีตอไม้ โพรงไม้ หรือซอกหินอยู่มาก มันอาจขุดรูอยู่ได้เช่นกัน นอกจากบริเวณปากแม่น้ำแล้ว เคยพบขึ้นไปสูงถึงบริเวณน้ำตก ลำธารบนภูเขาในประเทศไทย พบปลาวงศ์นี้ในภาคใต้และภาคตะวันตกขึ้นไปถึง จ.แม่ฮ่องสอน และ แม่น้ำโขง ถึง จ.เลย

วงศ์ปลาแมว ( Family Engraulididae )


มีรูปร่างยาว ส่วนหัวโต ปากกว้าง เฉียงลง มีกระดูกขากรรไกรบนยาวยื่นออกไปทางด้านท้ายเป็นแผ่นแบน เรียว มักมีฟันเล็กแหลม ลำตัวแบนข้างมาก ครีบหลังเล็ก ครีบก้นยาว ครีบหางเว้าแฉกหรือปลายแหลม เกล็ดบางหลุดร่วงง่าย ส่วนมากเป็นปลาทะเล รู้จักกันดีได้แก่ พวกปลากะตัก และ ปลาแมว ( Anchovy ) ในน้ำจืดของไทย พบ 4 ชนิด

วงศ์ปลาหลังเขียว


มีลักษณะที่สำคัญคือ มีลำตัวแบนข้าง ริมฝีปากบนเป็นแผ่นกระดูกบาง ปากอยู่ตอนปลายสุดของหัวเป็นส่วนมาก มีฟันซี่เล็กและละเอียด หรืออาจไม่มีในบางชนิดมีเกล็ดบางแบบขอบเรียบ ปกคลุมทั่วตัว ครีบมีขนาดเล็ก ไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหางมักเว้าลึก ส่วนมากมักมีเกล็ดที่ด้านท้องเป็นสันคม มักมีสีตัวเป็นสีเงิน และ สีด้านหลังเป็นสีเขียวเรื่อ จึงเป็นที่มาของชื่อ อาศัยในทะเลเป็นส่วนมากแต่ก็พบในน้ำจืดหลายชนิด ที่พบในน้ำจืดของไทยมี 6 ชนิด

วงศ์ปลาตะเพียน , สร้อย และ ซิว


เป็นวงศ์ที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดในปลาน้ำจืดของไทย และ มีความหลากชนิดเป็นอันดับสามของวงศ์ปลาในโลก มีลักษณะสำคัญคือ ไม่มีฟันที่ริมฝีปาก แต่มีฟันซี่ใหญ่อยู่ในลำคอ เกล็ดเป็นแบบขอบเรียบ , บาง ครีบเป็นก้านครีบอ่อน ครีบหางเป็นแฉกเว้าส่วนมาก ครีบท้องตั้งอยู่ค่อนมาตอนกลางของลำตัวด้านท้อง รูปร่างลำตัวมักแบนข้าง หรือเป็นแบบปลาตะเพียนที่เรารู้จักดี แต่ก็มีบางชนิดลำตัวค่อนข้างกลมอาศัยเฉพาะในน้ำจืด เป็นปลาที่กินพืชโดยส่วนมาก แต่ก็พบหลายชนิดกินเนื้อ หรือ แพลงค์ตอน ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกันมาก พบในเขตร้อน , เขตอบอุ่น และ เขตหนาวเกือบทั่วโลก ยกเว้นขั้วโลก ออสเตรเลีย และ อเมริกาใต้ ในประเทศไทยชนิดที่เคยพบเช่น แปบควาย , แปบ , ซิวอ้าว ,ปลาฟักพร้า ฯลฯ

วงศ์ปลาหมู

มีลักษณะสำคัญคือบริเวณใต้ตา มีกระดูกเป็นหนามโค้งพับซ่อนอยู่ข้างละ 1 อัน ส่วนหัวและจะงอยปากยื่นแหลม ปากเล็กอาจมีติ่งรอบริมฝีปาก มีหนวดสั้นๆ 3 คู่ ครีบหลังสั้นๆ ครีบอื่นๆ มีขนาดเล็ก ลำตัวเรียวยาวและแบนข้าง ครีบหางเว้าหรือเว้าลึก ผิวหนังมีเกล็ดขนาดเล็กมากผังอยู่จึงไม่สามารถสังเกตุได้ด้วยตาเปล่าและมีเมือกลื่นคลุมลำตัว ปลาในวงศ์นี้ไม่มีฟันที่ลำคอและที่ขากรรไกร มักอาศัยอยู่บริเวณที่มีน้ำไหลแรง อยู่ในระดับพื้นท้องน้ำ หรือ บริเวณใกล้ซอกหิน , โพรงไม้โดยพบเป็นฝูงใหญ่ อาหารส่วนใหญ่เป็นสัตว์เล็ก ฯ ที่อยู่ในดินโคลนใต้น้ำ และ ซากสัตว์ พบในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ชนิด

วงศ์ปลาสร้อยน้ำผึ้ง


มีลักษณะคล้ายปลาสร้อยธรรมดา แต่ลำตัวเรียวทรงกระบอก แบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่ ตาเล็ก ปากอยู่ด้านล่างของจะงอยปาก และมีลักษณะสำคัญ คือมีช่องเล็ก ๆ อยู่ด้านบนสุดของช่องเหงือก ริมฝีปาก มีลักษณะเป็นแผ่นดูดรูปกลมใช้ดูดกินตะไคร่น้ำตามพื้นหิน และ ทราย แล้วหายใจโดยใช้น้ำผ่านเข้าช่องเปิดด้านบนฝาปิดเหงือก แล้วออกมาทางด้านข้าง แทนที่จะใช้ปากสูบน้ำเข้าอย่างปลาทั่วๆ ไป พบในประเทศไทย 2 ชนิด เช่น สร้อยน้ำผึ้ง , เทศบาล

วงศ์ปลากด , แขยง ( Family Bagridae )


เป็นปลาหนังที่ไม่มีเกล็ด มีส่วนหัวค่อนข้างแบนราบ แต่ลำตัวแบนข้างไปทางด้านท้าย ปากกว้างอยู่ที่ปลายสุดของจะงอยปาก มีฟันที่เป็นซี่เล็ก แหลม ขึ้นเป็นแถบบน ขากรรไกร และ เพดาน มีหนวด 4 คู่ โดยคู่ที่อยู่ริมฝีปากจะยาวที่สุด ครีบหลังและ ครีบอกเป็นก้านแข็ง หรือเรียกว่าเงี่ยงเป็นส่วนมาก ครีบไขมันค่อนข้างยาว ครีบก้นสั้น ครีบท้องค่อนข้างเล็ก ครีบหางเว้าแฉก ในตัวผู้มักมีติ่งเล็กๆ ที่ช่องก้น เป็นปลาหนังวงศ์ ที่พบมากชนิดที่สุดของไทย มากกว่า 25 ชนิด เป็นปลากินเนื้อ ตั้งแต่แมลง สัตว์น้ำอื่นๆ ปลา และ กินซากสัตว์ ชนิดที่เคยพบเช่น แขยงหิน , แขยงข้างลาย , แขยงใบข้าว ฯลฯ

วงศ์ ปลาดุกมูน


มีส่วนหัวสั้น และ จะงอยปากเล็ก ตาเล็กมาก มีหนวดสั้น 4 คู่ คู่ที่อยู่ด้านล่างจะเป็นเส้นแบบบิดเป็นเกลียว ริมฝีปากเล็กเป็นจีบ ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ส่วนหลังยกสูง ครีบหลังสั้น ครีบไขมันยาวมาก ครีบหางเว้าลึก ครีบหลัง และ ครีบอกเป็นก้านแข้งปลายคม ตัวมีสีคล้ำ หรือ น้ำตาลอ่อน ด้านท้องสีจาง ในปลาเป็นๆ อาจมีแถบขวางลำตัว แนวเฉียงเป็นสีจางๆ ครีบสีจาง ครีบหางใส ขนาดพบใหญ่สุด 25 ซม. พบทั่วไป 10 –15 ซม. จับได้โดยเบ็ดราว , ข่ายลอย , ตุ้ม , ลอบ พบในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา , บางปะกง และ แม่น้ำโขง

วงศ์ปลากดอเมริกัน

อยู่ในวงศ์ Ictaluridae เป็นปลาพื้นเมืองของทวีปอเมริกาเหนือ ถูกนำเข้าไปเลี้ยงในประเทศเขตอบอุ่นหลายแห่ง เช่น ในแคนาดา ทวีปยุโรป ญี่ปุ่น ในประเทศไทยได้นำเข้ามา ทดลองเลี้ยง ประมาณปี 2532 มีลักษณะดูคล้ายกับปลากด และ ปลาสวายรวมกัน คือ มีส่วนหัวใหญ่ ปากกว้าง มีหนวด 4 คู่ คู่ที่จมูกสั้น คู่ที่ริมฝีปาก และ คางยาวลำตัวเรียว และ แบนข้างที่ส่วนท้าย มีเงี่ยงที่ครีบหลัง และ ครีบอก ครีบไขมันเล็กและสั้นครีบก้นยาว ครีบหางเว้าลึก
ตัวมีสีเทา อมน้ำตาล หรือ เหลือง ด้านท้องสีจาง มีประสีคล้ำ หรือดำอยู่กระจายห่างๆ ในปลาขนาดเล็กกว่า 20 ซม. ครีบมีสีคล้ำ พบขนาดใหญ่สุด 1.2 ม. แต่ทั่วไป 40 – 50 ซม. มีการกระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ และ แคนาดาตอนใต้ ในประเทศไทยมีการเลี้ยงกันมากที่ จ. นครสวรรค์ และพบหลุดมาในแหล่งน้ำธรรมชาติ และจับมาขายในตลาดหลังน้ำท่วมปี 2538

วงศ์ปลาเนื้ออ่อน ( Family Siluridae )


เป็นปลาหนังที่มีรูปร่างเพรียว,ยาว และ ลำตัวแบนข้างมาก ส่วนหัวมักแบนราบ หรือ แบนข้างในบางชนิด ปากกว้าง มีฟันซี่เล็ก , แหลม ขึ้นบนขากรรไกร และ เป็นแผ่นบนเพดาน มีหนวด 2-3 คู่ ครีบก้นยาวมากกว่า ครึ่งหนึ่ง ของความยาวลำตัวไม่มีครีบไขมัน ครีบหลังมักอันเล็กมาก หรือไม่มี ครีบท้องเล็ก วางไข่แบบจมติดกับวัสดุ เป็นปลากินเนื้อ เช่นแมลง ปลาเล็ก กุ้ง และ สัตว์หน้าดินต่างๆ เป็นวงศ์ของปลาหนังที่มีการกระจายพันธุ์กว้าง ตั้งแต่ยุโรป,เอเซียตอนบน,อินเดีย ถึงอินโดนีเซีย เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย พบในไทยราว 30 ชนิด และอย่างน้อย 7 ชนิด พบบ่อยในท้องตลาด บางชนิดเป็นปลาสวยงามที่มีชื่อเช่น ปลาก้างหระร่วง , คางเบือน , แดงไท ฯลฯ

วงศ์ปลาหวีเกศ



ลักษณะสำคัญคือ มีหนวด 3-4 คู่ มีร่องเก็บของแต่ละเส้นที่จะงอยปากข้างแก้ม และ ใต้คาง รูจมูกช่องหลังมักใหญ่กว่าช่องหน้า และ อยู่ชิดกัน ครีบอก และ ครีบหลัง มีก้านครีบแข็ง ครีบไขมันมีขนาดเล็ก ครีบก้นยาว ลำตัวมักแบนข้าง มีการกระจายพันธุ์ ตั้งแต่ ทวีป แอฟริกา อินเดีย เอเซียอาคเนย์ และ เขตซุนดา ที่พบในไทย มี 4 สกุล 5 ชนิด เช่น สังกะวาดขาว และ หวีเกศ

วงศ์ปลาสวาย , สังกะวาด ( Family Pangasiidae )


รูปร่างเพรียวส่วนท้องใหญ่ ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวโต ตาโต มีหนวดเพียง 2 คู่ รูจมูกช่องหน้า และ หลังมีขนาดเท่าๆกัน มีครีบไขมันเล็ก ครีบท้องเล็ก ฐานครีบก้นยาว กระเพาะมีขนาดใหญ่รูปรียาว มี 1-4 ตอน พบขนาดตั้งแต่ไม่เกิน 40 ซม. จนถึงกว่า 2 ม. ในปลาบึก Pangasianodon gigas ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปลาหนังที่ใหญ่ที่สุด ปลาวงศ์นี้มีการกระจายพันธุ์ จากอินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และ บอร์เนียว อินโดนีเซีย มี 21 ชนิด และ พบในไทย 12 ชนิด เช่น สวาย , สวายหนู , สังกะวาดท้องคม ฯลฯ

วงศ์ปลาแค้

แตกต่างจากปลาหนังในวงศ์อื่น ๆ คือมีส่วนหัวโตปากกว้างมาก และ อยู่ด้านล่างผิวหนังบนหัว และ ตัวไม่เรียบ อาจสากหรือเป็นตุ่มนิ่มเล็กๆ บนหัวมีสันตื้น ไปถึงด้านหลัง ครีบไขมัน มีขนาดเล็กมีหนวด 4 คู่ หนวดที่ริมฝีปาก เป็นเส้นแบนและแข็ง หนวดที่จมูก สั้นหนวดใต้คางยาว ส่วนมากครีบหลังและครีบอกมีก้านแข็งแหลมคม ครีบท้องใหญ่ ครีบก้นเล็ก ครีบหางเว้าแฉก ปลาวงศ์นี้มีการกระจายพันธุ์เฉพาะในเขตร้อนของเอเซีย พบมากกว่า 50 ชนิด ประมาณ 17 ชนิด พบในไทย มี 2 ชนิด คือ แค้วัว , แค้ควาย

วงศ์ปลาดุก


มีลักษณะที่เด่ดชัดคือ ส่วนหัวกลมแบนราบตาเล็กอยู่ด้านข้างของหัว ปากเล็ก อยู่ตอนปลายสุดของจะงอยปาก มีหนวดรอบปาก 4 คู่ยาวเท่าๆกัน ครีบอกมีก้านแข็งแหลมคม และ มีพิษแรงปาณกลางถ้าถูกทิ่มแทง ครีบหลังไม่มีก้านครีบแข็งยาวเกือบเท่าลำตัวเช่นเดียวกับครีบก้น ครีบหลังและครีบท้องเล็กปลายมน ปลาดุก มีอวัยวะพิเศษรูปร่างคล้ายก้อนฟองน้ำ สีแดงสดอยู่ในช่องเหงือกตอนบน ใช้ช่วยหายใจโดยใช้อากาศเหนือน้ำได้ จึงทำให้ปลาดุกอยู่เหนือน้ำ ได้นานกว่าปลาชนิดอื่น ๆ และมันยังสามารถใช้แถก คืบคลานบนบกได้ เมื่อมีฝนตกน้ำไหลหลาก และเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษ ที่เรียกว่า “ Walking catfish” ปลาดุกมีการวางไข่โดยขุดโพรง หรือ ทำรัง และบางชนิดตัวผู้ ตัวเมียช่วยกันดูแลไข่จนฟักเป็นตัว ไข่เป็นแบบไข่ติด ปลาในวงศ์นี้มีการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ทวีปอัฟริกา ถึง เอเชีย ในประเทศไทยพบ 6-7 ชนิด เช่น ดุกด้าน , ดุกอุย และ ดุกเนื้อเลน ฯลฯ

วงศ์ปลาจีด ( Family Heteropneustidae )

พบตั้งแต่อินเดีย ถึง ประเทศไทย มีเพียงชนิดเดียวในประเทศไทย คือ จีด

วงศ์ปลากดทะเล , ปลาอุก ( Family Ariidae )

เป็นปลาที่อยู่ในบริเวณน้ำกร่อย ปากแม่น้ำ และ ในทะเล ส่วนมากรูปร่าง คล้ายปลาสวายแต่มีส่วนหัวโตกว่า และ แบนราบเล็กน้อย ครีบหลังยกสูง มีก้านแข็งคมเช่นเดียวกับครีบอก ครีบก้นสั้น ครีบหางเว้าลึก มีหนวด 1-3 คู่รอบปาก ปลาวงศ์นี้มีการวางไข่ โดยตัวผู้เป็นผู้อมไข่ไว้ในปากรอจนกว่าจะฟักเป็นตัว ไข่มีฟองขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 0.5 – 1 ซม. แล้วแต่ชนิด พบกระจายพันธุ์ทั่วเขตร้อนของโลก พบในประเทศไทย ประมาณ 20 ชนิด และพบในน้ำจืดราว 6 ชนิด

วงศ์ปลาบู่ใส ( Family Phallostethidae )

เป็นปลาขนาดเล็ก มีรูปร่างเพรียว หัวเล็ก ตาเล็ก ใต้คางมีขดกระดูกเป็นอวัยวะพิเศษใช้ในการสืบพันธุ์ เรียก Priapium มีรูปร่างแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด มีครีบหลัง 2 ตอน ตอนแรกเล็กมาก มีเพียง 1 ก้านครีบสั้น ๆ ตอนหลังมีขนาดเล็ก ทั้งสองส่วนอยู่ค่อนไปด้านท้ายลำตัว ครีบหางเว้าตื้น ครีบก้นใหญ่ ครีบอกเล็ก ไม่มีเกล็ด ตัวมักใส อยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ในบริเวณผิวน้ำของแม่น้ำ และ แหล่งน้ำนิ่ง ทั้งน้ำจืด และ น้ำกร่อย พบในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ถึงฟิลิปปินส์ ทั้งหมด 4 สกุล 20 ชนิด มีขนาดใหญ่สุด 3.7 ซม. ทั่วไปประมาณ 2 ซม. ในประเทศไทย พบอย่างน้อย 3 ชนิด

วงศ์ปลาเข็ม ( Family Hemirhamphidae )

มีรูปร่างทรงกระบอกเรียว ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย หรือกลม ลักษณะที่เด่นชัด คือมีจะงอยปากล่าง ยื่นยาวกว่าปากบนมาก ตาโต ครีบหลังค่อนไปทางด้านท้ายลำตัว มีเกล็ดค่อนข้างเล็ก มักพบในบริเวณน้ำกร่อย และ ทะเล ชอบว่ายหากินอยู่บริเวณใกล้ ผิวน้ำ กินแมลง ลูกปลาเป็นอาหาร รวมถึงแพลงค์ตอนพืช ออกลูกเป็นตัว โดยผสมพันธุ์ ภายในตัว พบทั่วไปในทะเลเขตร้อน พบในน้ำจืดของประเทศไทย 5 ชนิด ปลาในวงศ์นี้ ที่ใช้ประโยชน์ เป็นปลาสวยงาม คือ ปลาเข็มหม้อ พบบ่อยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนล่าง บึงบอระเพ็ด และยังถูกนำมาเลี้ยงใช้ต่อสู้กันแบบปลากัด

วงศ์ปลากระทุงเหว ( Family Belonidae )

มีจะงอยปากทั้งบน และ ล่างยื่นยาวมาก และ แข็งแรง มีฟันเล็กแหลมบนขากรรไกรทั้งบนและล่าง รูปทรงกระบอกยาวเรียว ครีบหลัง และ ครีบก้นมักอยู่ค่อนไปทางด้านท้าย ครีบอกใหญ่ เกล็ดเล็ก พบส่วนมากอยู่ในทะเล และ น้ำกร่อยของ เขตร้อนรอบโลก เป็นปลากินเนื้อ วางไข่ โดยเป็นไข่ติด ไข่มักมีเส้นใยหุ้มรอบ พบในน้ำจืดของไทย เพียง 1 ชนิด คือ ปลากระทุงเหวเมือง

วงศ์ปลาซิวข้าวสาร ( Family Oryziidae )

ลักษณะลำตัวยาวเรียว แบนข้างเล็กน้อย หัวและตาโตและอยู่สูง ปากเล็กครีบหลังค่อนไปทางด้านท้าย ครีบอกอยู่ในระดับสูงเหนือช่องเหงือก ครีบหางปลายมนตัวมักใสหรือมีสีน้ำตาลอ่อน ครีบหางอาจมีสี เป็นปลาขนาดเล็กกว่า 5 ซม. อาศัยในแหล่งน้ำนิ่ง และ น้ำกร่อย อยู่เป็นฝูงใหญ่ ในบริเวณผิวน้ำ พบทั่วไปในทวีปเอเซีย ในประเทศไทยพบอย่างน้อย 5 ชนิด

วงศ์ปลาหัวตะกั่ว ( Family Aplocheilidae )

ลักษณะรูปร่างคล้ายกับปลาข้าวสาร แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก หัวโต ตาโต ปากกว้างตัดตรง และ ยืดออกได้ ครีบหลังตั้งต่ำกว่าช่องเหงือก ครีบหางปลายมน แหลมเล็กน้อย เกล็ดเล็ก หัวมักมีแต้มสีเงิน วาวสะท้อนแสง ตัวมีสีฟ้าอ่อน และมักมีจุดประสีสดใส ต่างๆ บนลำตัว และ ครีบ ขนาดใหญ่สุด 8 ซม. พบทั่วไป 6 ซม. อาศัยทั้งในแหล่งน้ำนิ่ง และ น้ำกร่อย มีการกระจายพันธุ์กว้างในเขตร้อน ตั้งแต่เอเซีย ถึง แอฟริกา ชนิดที่พบในประเทศไทย มี 1 ชนิด คือ หัวตะกั่ว

วงศ์ปลาจิ้มฟันจระเข้ ( Family syngnathidae )

เป็นวงศ์เดียวกับม้าน้ำ รูปร่างยาวเรียว และ ลำตัวเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีจะงอยปากยาวเป็นท่อ ปากเล็ก มีครีบหลัง และ ครีบอกอันเล็กบาง และ มักมีครีบหางอันเล็ก หรือ ไม่มี เกล็ดดัดแปลงเป็นแผ่นกระดูกแข็งหุ้มลำตัวเป็นวงหลายวง ไปจนตลอดถึงปลายหาง มีขนาดตั้งแต่ 2 ซม จนถึง 40 ซม. พบส่วนมากในทะเล และ พบในน้ำจืดทั้งแม่น้ำ และ แหล่งน้ำนิ่งที่มีคุณภาพดีเท่านั้น กินแพลงค์ตอนสัตว์ และ ลูกกุ้ง ลูกปลา ในประเทศไทย พบอย่างน้อย 25 ชนิด แต่พบในน้ำจืด 3-5 ชนิด เช่น จิ้มฟันจระเข้ยักษ์

วงศ์ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ ( Family Indostomidae )

มีรูปร่างคล้ายกับปลาจิ้มฟันจระเข้ แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก ส่วนหัวและจะงอย ปากสั้นกว่า ตาโต มีวงเกล็ดของลำตัวน้อย ส่วนหางเรียงเล็ก มีครีบหลังเป็นก้านแข็งสั้นๆ ที่ตอนหน้าของลำตัว และเป็นครีบอ่อนที่ตอนกลาง มีทั้งครีบอก ครีบท้องอันเล็ก และ ครีบก้น และ ครีบหางเป็นรูปพัด ตัวมีสีน้ำตาลอ่อนถึงคล้ำ และ มีลายสีคล้ำประ ครีบใส อาจมีประสีน้ำตาลคล้ำ ขนาดพบใหญ่สุด 3 ซม. พบทั่วไป 2 ซม. อาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่มีพรรณพืชหนาแน่น และ มีสภาพดีมาก รวมถึงบริเวณป่าพรุดั้งเดิม เคยมีรายงานพบว่า พบเฉพาะในทะเลสาบ Indowgi ของพม่าเท่านั้น แต่ปัจจุบันพบว่ามีชนิดใหม่ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำโขง ถึงภาคใต้ และ มาเลเซีย ในประเทศไทยพบ 2 ชนิด คือ Indostomus spinosus จากลุ่มแม่น้ำโขง และ บึงบอระเพ็ด แต่ปัจจุบันพบน้อยมากในบึงนี้ และ มีอีกชนิดที่พบในภาคใต้ ตั้งแต่พรุโต๊ะแดง จ. นราธิวาส ไปถึง มาเลเซีย

วงศ์ ปลาไหลนา

มีรูปร่างเรียวยาวอย่างงู ลำตัวกลม ปลายหางแหลม ไม่มีครีบ แต่ในขณะนั้นเป็นตัวอ่อนมีครีบอกเล็กๆ ผิวมีเกล็ดละเอียดฝังอยู่ มีอวัยวะช่วยหายใจเป็นเส้นเลือดฝอยที่คอหอย มักอาศัยอยู่ในพื้นท้องน้ำริมตลิ่งโดยขุดรูอยู่และทำรังวางไข่ในรูนั้น หรืออาจอยู่ตามกอสวะรากไม้ พบทั้งในน้ำกร่อย และ น้ำจืด ตั้งแต่อินเดีย ถึง ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น พบในน้ำจืดของไทย 3 ชนิด

วงศ์ ปลากระทิง

มีรูปร่างคล้ายปลาไหล แต่มีส่วนหัวและจะงอยปากยื่นแหลม มีครีบอก ครีบหลัง และครีบก้น ครีบหางเล็ก ด้านหลังมีก้านครีบแข็งสั้นๆ แหลมคมอยู่ตลอด ตอนหน้า มีเกล็ดเล็ก ปากเล็ก และ จะงอยปาก และ ปลายจมูกเป็นงวงแหลมสั้น ๆ ปลายแฉก ตาเล็ก อาศัยอยู่ใกล้พื้นท้องน้ำ หรือ อยู่ในโพรงไม้ และ รากไม้ พบในเขตร้อนตั้งแต่ ทวีปอัฟริกา ถึง เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่บอร์เนียว ประมาณ 36 ชนิด พบในไทยประมาณ 12 ชนิด

วงศ์ปลาหลดแคระ

มีรูปร่างคล้ายปลาหลด แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก และไม่มีเกล็ด หัวเล็ก จะงอย ปากสั้นมน ปากค่อนข้างกว้าง ตาเล็กมาก ครีบไม่มีก้านแข็ง ส่วนมากครีบหางเชื่อมต่อ กับครีบหลัง และ ครีบก้น ตัวมักมีสีชมพู หรือ สีจาง ไม่มีลวดลาย มักอาศัยในบริเวณที่พืชน้ำหนาแน่นของแหล่งน้ำนิ่ง พรุ และ แม่น้ำ มีขนาดโตไม่เกิน 8 ซม. พบตั้งแต่ อินเดีย ถึง เกาหลี , จีน และ บอร์เนียว พบรวมทั้ง 6 สกุล กว่า 12 ชนิด ในประเทศไทย พบอย่างน้อย 2 ชนิด

วงศ์ปลากระจก , แป้นแก้ว

มีรูปร่างเป็นรูปไข้ ส่วนหลังและ ท้องกว้าง ลำตัวแบนข้างมาก หัวโต ตาโต ปากกว้าง ครีบหลังมี 2 ตอน ตอนหน้ามีก้านแหลมแข็งแหลม ตอนท้ายมีก้านอ่อน ครีบหาง เว้าลึก ครีบก้นมีก้านแข็ง 3 อัน ครีบท้องมีก้านแข็ง 1 อัน ลำตัวมักมีลำน้ำใส หรือ ขุ่นเล็กน้อย และ มีด้านท้องสีเงิน เป็นปลากินเนื้อ พบส่วนมากในบริเวณปากแม่น้ำ อยู่รวมกันเป็นฝูง พบในเขตร้อนของชายฝั่ง มหาสมุทรอินเดีย ถึง ฟิลิปปินส์ และ ออสเตรเลีย ในแหล่งน้ำจืดของไทยพบ 5 ชนิด เช่น แป้นแก้ว , อมไข่น้ำจืด , แป้นแก้วยักษ์ ฯลฯ

วงศ์ปลาเสือตอ

รูปร่างลำตัวแบนข้าง ส่วนหลังยกสูง ปากกว้าง ยืดออกได้มาก เกล็ดเล็กละเอียด ครีบหลังมี 2 ตอน ต่อเนื่องกันเป็นส่วนของก้านครีบแข็ง และ ก้านครีบอ่อน ครีบหางมน ครีบก้นสั้น ก้านครีบอันที่ 2 ยาวที่สุด ตัวมักมีแถบสีดำพาดขวางส่วนหัว และ ตัวถึงคอดหาง 5-8 บั้ง ขนาดใหญ่สุดถึง 50 ซม. อาศัยในแม่น้ำและที่น้ำหลาก พบทั้งในน้ำจืด และ น้ำกร่อยของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ถึง นิวกินี รวม 5 ชนิด ที่พบในประเทศไทย มี 3 ชนิด เช่น เสือตอ
วงศ์ปลาม้า , ปลาจวด ( Family Sciaenidae )

เป็นปลาทะเลส่วนมาก มีส่วนหัวโต จะงอยปากยื่นยาว แต่ปลายมน ตาโต ตั้งอยู่ค่อนไปทางด้านบนของหัว ปากมักอยู่ไปทางด้านล่าง ริมฝีปากบาง มีฟันเป็นเขี้ยวซี่เล็กๆ มักมีรูเล็กๆ อยู่ใต้คาง ครีบหลังยาวและเว้าเป็น 2 ตอน ส่วนโคนหางมักขอดกิ่ว หางอาจมีปลายแหลม หรือ ตัดตรง เกล็ดเล็ก เกล็ดบนเส้นข้างตัวขึ้นเลยไปถึงปลายครีบหาง ครีบท้องตั้งอยู่ใต้ครีบอก มีกระเพาะลมอันใหญ่ และ มีกล้ามเนื้อรอบซึ่งทำเสียงได้เวลาถูกจับ พบในเขตร้อนรอบโลกมากกว่า 270 ชนิด พบในน้ำจืดน้อยชนิดแต่ส่วนมากพบในน้ำกร่อย ในประเทศไทยพบเกือบ 40 ชนิด แต่ที่พบในน้ำจืดมีเพียง ชนิดเดียว คือ ม้า

วงศ์ปลากุเรา ( Family Polynemidae )

มีรูปร่างทรงกระบอกสั้น ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวและจะงอยปากทู่ ปากกว้างอยู่ด้านล่างของจะงอยปาก ตาเล็กมีเยื่อไขมันปกคลุม ตั้งอยู่ตอนปลายของหัว ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอนห่างกัน ตอนแรกเป็นก้านแข็งอันสั้น ตอนท้ายเป็นก้านอ่อน ครีบหางเว้าลึก ครีบอกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนเป็นครีบยาวแหลมส่วนล่างเป็นเส้นยาวแยกออกเป็นเส้นๆ ตั้งแต่ 4 – 14 เส้น มีความยาวแล้วแต่ชนิด เกล็ดเล็กเป็นแบบขอบหยัก ( Ctenoid ) เป็นปลากินเนื้อ กินกุ้ง ปู และปลาเล็ก หาเหยื่อ และ สัมผัสได้ด้วยครีบอกที่เป็นเส้น พบส่วนมากในทะเล และ น้ำกร่อย ในน้ำจืดพบน้อยชนิด พบทั้งหมดประมาณ 30 ชนิด ในประเทศไทยมีประมาณ 10 ชนิด และ 2 ชนิดอยู่ในน้ำจืด คือ หนวดพราหมณ์

วงศ์ปลาเสือพ่นน้ำ ( Family Toxotidae )

รูปร่างเป็นสามเหลี่ยม ส่วนหัวและจะงอยปากยื่นแหลม ตาโต ปากกว้างอยู่ปลายสุดของหัว และ ยืดหดริมฝีปากได้ดี ด้านหน้า และ ด้านหลังเป็นแนวตรง ครีบหลังอยู่ค่อนไปทางด้านท้าย มีก้านแข็ง 4 – 5 อัน ครีบหางปลายตัด ครีบอก และ ครีบท้องเล็ก เกล็ดเล็ก ตัวมักมีลายเป็นดวงดำขนาดใหญ่บนพื้นสีขาว มีความสามารถพิเศษ คือ พ่นน้ำ จับแมลงที่อยู่สูงขึ้นไปจากผิวน้ำได้ถึง 1 เมตรกว่า มักว่ายหากินอยู่ใกล้ผิวน้ำ เป็นฝูงเล็ก ๆ ว่องไวมาก อาศัยในแม่น้ำ และ น้ำกร่อยปากแม่น้ำ พบทั่วไปในเขตร้อน ของเอเซีย ถึง ออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบ 3 ชนิด คือ เสือพ่นน้ำ , เสือดำ ฯลฯ

วงศ์ ปลาบู่

เป็นวงศ์ที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดของปลาในโลก พบอาศัยทั้งในทะเลลึกกว่า 60 ม. ถึงลำธารในที่สูงกว่า 1,000 เมตร พบทั่วไปในเขตร้อนและเขตอบอุ่นมากกว่า 1,950 ชนิด และ ในประเทศไทยมากกว่า 300 ชนิด มีลักษณะที่ต่างจากปลาอื่น คือ มีลำตัวทรงกระบอก หรือ ยาว ส่วนหัวและจะงอยปากบน มีเส้นข้างตัว และ แถวของรูปลายประสาทอยู่บนหัวหลายแถว ครีบหลังแยกเป็น 2 ตอน ชัดเจน ครีบหางมนกลม ครีบก้นยาว ครีบอกใหญ่ ครีบท้องใหญ่จะแยกจากกันใน วงศ์ ปลาบู่ทราย แต่จะเชื่อมติดกันเป็นถ้วยส่วนมากในวงศ์ ปลาบู่ เกล็ดมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เป็นปลากินเนื้อ กินแมลง สัตว์น้ำขนาดเล็ก และ ปลา วางไข่โดยตัวผู้ และ ตัวเมียช่วยกันดูแล โดยไข่ติดกับวัสดุเป็นแพ ไข่มีรูปร่างคล้ายผลองุ่น เมื่อฟักตัวจะปล่อยให้หากินเอง มีบางชนิดเท่านั้นที่มีขนาดใหญ่ ส่วนมากมีขนาดเล็กยาวไม่เกิน 20 ซม. อาศัยอยู่ในทะเล และ น้ำกร่อยเป็นส่วนมาก พบน้อยชนิดในน้ำจืด ในไทยพบประมาณ 20 ชนิด เช่น ปลาบู่ทราย

วงศ์ปลาหมอ ( Family Anabantidae )

มี 1 ชนิดในประเทศไทย คือ ปลาหมอ รูปร่างป้อม ลำตัวแบนข้าง ส่วนหัวสั้นปลายมน ตาโต ปากกว้าง ขอบฝาปิดเหงือกเป็นหยักแข็ง เกล็ดใหญ่คลุมทั่วตัว เส้นข้างตัวขาดตอน ครีบหลังยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว มีก้านแข็งแหลม จำนวนมาก เช่นเดียวกับครีบก้น แต่ ครีบก้นสั้นกว่า ครีบอกเล็กรูปไข่ ครีบหางปลายมน ตัวมีสีเขียว มะกอก และ มีลายประสีคล้ำที่ข้างลำตัว ครีบใส ด้านท้องสีเหลือง ขอบฝาปิดเหงือกตอนบนมีแต้มสีดำ มีอวัยวะช่วยหายใจ ขนาดพบใหญ่สุด 20 ซม. พบทั่วไป 10 – 13 ซม. พบในแหล่งน้ำนิ่งส่วนมากในทุกภาค จับได้โดย อวนลาก แห ข่าย เบ็ดธง บ่อล่อปลา ลอบ ไซ ยอก และ เบ็ดตก สามารถแถกขึ้นบก ไปหาที่กินใหม่ ได้เมื่อมีฝนตกน้ำหลาก โดยใช้ขอบฝาปิดเหงือกช่วยใน การเคลื่อนที่

วงศ์ปลาสลิด , กัด ( Family Belontidae )

เป็นวงศ์ปลาที่มีลักษณะพิเศษคือ มีอวัยวะช่วยหายใจในช่องเหงือก ตอนบน และ ทำรังหรือก่อหวอด เพื่อวางไข่ มักมีรูปร่างเรียวยาว หรือ รูปไข่ ลำตัวแบนข้าง ส่วนหัวโต ตาโต ปากเล็ก ครีบหลังสั้น แต่ครีบก้นยาวมาก มีครีบท้องอันเล็ก หรือ เป็นเส้นยาวเรียว ครีบหาง เว้าตื้น เกล็ดเล็กเป็นแบบขอบหยัก พบประมาณ 15 ชนิดในไทย มักมีขนาดเล็ก และ มีสีสันสวยงาม เปลี่ยนสีได้ดีตามสถานการณ์ ส่วนมากมีประโยชน์ เป็นปลาสวยงาม เช่น ปลากัดต่างๆ ปลากริม กระดี่มุก ฯลฯ

วงศ์ ปลาหมอตาล ( Family Helostomidae )

มีรูปร่างเป็นรูปไข่ ลำตัวแบนข้างมาก หัวเล็กตาโต ปากเล็กยืดหดได้ดี จะมีจะงอยปาก และ หน้าผาก โค้งลาด เกล็ดใหญ่ ครีบหลัง และ ครีบก้นยาว มีก้านครีบแข็งจำนวนมาก ครีบหางมน ครีบท้องเป็นเส้นยาว ตัวมีสีเขียวอ่อนเหลือบด้านบน ตาแดง ด้านข้างลำตัวสีเขียวมะกอกเหลือบเงิน หรือ น้ำตาลอ่อน มีแถบสีจางตามแนวเกล็ด ครีบหลัง และ ครีบก้นสีคล้ำ ครีบหางสีจาง ขนาดพบใหญ่สุด 25 ซม. พบทั่วไป 10 – 15 ซม. อาศัยในแม่น้ำและแหล่งน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำขึ้น จับได้โดยข่ายลอย ไซ ลอบ และ แห ใช้ประโยชน์โดยบริโภคแบบปรุงสด ๆ และ ทำปลาแห้ง เคยพบมากในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันพบน้อยลงมาก และ พบบ้างในภาคใต้ ถึง มาเลเซียในปลาที่มีสีเผือกนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เรียกปลาจูบ

วงศ์ปลาแรด

เป็นปลากลุ่มของปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พบทั้งหมด 4 ชนิด ตั้งแต่ไทย ถึง กัมพูชา ถึงบอร์เนียว แต่พบในไทยเพียงชนิดเดียว คือ ปลาแรด

วงศ์ปลาช่อน

รูปร่างทรงกระบอกเพรียว ส่วนหัวโต จะงอยปากยื่น ปากกว้าง ตาโต มีฟัน เป็นเขี้ยวบนขากรรไกร ส่วนหัวดูจากตอนบน โค้งมนคล้ายหัวของงู หัวด้านบนราบ ลำตัวค่อนข้างกลม ครีบหลังและครีบก้นยาว ครีบหางปลายมน ครีบอกใหญ่ ครีบท้องเล็ก เกล็ดใหญ่มีขอบเรียบ ปลาช่อนมีอวัยวะช่วยหายใจเป็นหลือเนื้อสีแดง อยู่ในคอหอย จึงสามารถอยู่ในแหล่งน้ำที่มีอ็อกซิเจนต่ำได้ วางไข่โดยตัวผู้และตัวเมียช่วยกันปรับพื้นที่น้ำตื้นๆ ให้เป็นแปลงกลม แล้ววางไข่ลอยเป็นแพ ตัวผู้เป็นผู้ดูแลจนฟักแล้วเลี้ยงลูกจนโต เรียก “ ลูกครอก “ มีสีแดง,ส้ม รูปร่างคล้ายพ่อแม่ จึงปล่อยให้หากินเอง พบในเขตร้อนของอัฟริกา และ เอเชีย มีประมาณ 20 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด

วงศ์ปลานิล

เป็นวงศ์ปลาที่มีหลายร้อยชนิด พบในเขตร้อนของอเมริกา แอฟริกา ถึง ศรีลังกา เป็นวงศ์ที่รู้จักกันดีจากปลาสวยงามเป็นส่วนมาก เช่น ปลาเทวดา ปลาออสการ์ ปลาหมอสี ฯลฯ แต่ที่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารมีอยู่ 3 ชนิด คือ ปลานิล ปลาหมอเทศ และ ปลาหมอเทศข้างลาย
มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำไนล์ และ อื่นๆ ในทวีปอัฟริกาจนถึงอียิปต์ ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปี 2508 เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยชนิดหนึ่ง และ พบแพร่พันธุ์ทุกแหล่งน้ำของไทย

วงศ์ ปลายอดม่วง

รูปร่างเรียวยาวส่วนท้ายแหลมดูคล้ายใบมะม่วง ตาเล็กจะงอยปากงุ้ม ปลายริมฝีปากบนเป็นติ่งแหลมโค้ง ปากค่อนข้างกว้าง ส่วนหัวหันไปทางซ้ายโดยที่ซีกขวา อยู่ด้านบน ต่างจากปลาใบไม้ ส่วนมากเป็นปลาทะเล พบในน้ำจืดน้อยชนิด ในไทยพบมากกว่า 20 ชนิด แต่พบในแม่น้ำเพียง 2 ชนิด

วงศ์ปลาปักเป้า

มีรูปร่างที่เฉพาะตัวคือ กลมป้อม ส่วนโคนหางเล็ก มีครีบหลังและครีบก้นเล็กสั้นอยู่ค่อนไปทางซ้าย ครีบอกใหญ่รูปกลมมน ครีบหางใหญ่ปลายมน ว่ายน้ำโดยใช้ครีบอกโบกพร้อมหับครีบหลัง และ ครีบ ช่องเหงือกเล็ก หัวโต จะงอยปากยื่นมีฟันเป็นปากนกแก้ว ตาโตอยู่ค่อนไปทางด้านบนของหัว รูจมูกเป็นติ่งสั้นๆ ผิวขรุขระมีหนามเล็กๆ อยู่บริเวณผิว ด้านท้อง ผิวลำตัวส่วนอื่น ๆ จะเรียบ พบมากในทะเลเขตร้อนรอบโลก และ พบในปากแม่น้ำ เป็นปลาน้ำจืดเพียง 12 ชนิด ๆที่เคยพบในไทย ได้แก่ ปักเป้าเขียว , ปักเป้าดำ
ที่มาhttp://www.bestfish4u.com/best-fish-article-10.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น