บล็อกนี้ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่่่อในการเรียนการสอนรายวิชาอินเตอร์เนตในชีวิตประจำวันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขอขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้

นับเป็นความน่าพิศวงอันหนึ่งของโลกเราที่มีสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิด  โดยใช้เวลาวิวัฒนาการมานานนับหลายร้อยล้านปี  ความหลากหลายของสรรพสิ่งมีชีวิต หรือที่เรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity) นี้  เป็นทรัพยากรที่มิอาจประเมินค่าได้ตลอดระยะเวลาที่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ  ถือกำเนิดและมีวิวัฒนาการมาราว 600 ล้านปี  ความหลากหลายทางชีวภาพอันได้แก่  สรรพสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้  เพิ่มขึ้นตลอดมา  มนุษย์รู้จักใช้ทรัพยากรสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติเหล่านี้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น  เมื่อเทียบกับปริมาณสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ทั้งมวล  การใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตในบางธุรกิจในบางประเทศ  เช่น  เป็นยารักษาโรคนั้น  มีมูลค่าแต่ละปีหลายแสนล้านบาท  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สิ่งมีชีวิตในโลกกำลังถูกคุกคาม และจะสูญพันธุ์ไป  เชื่อว่าจะมีสิ่งมีชีวิตกว่าครึ่งหนึ่งกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักด้วยซ้ำไป

ความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร
         คนมักเข้าใจว่าความหลากหลายทางชีวภาพก็คือการมีสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ชนิด  ชนิดในที่นี้ก็คือสปีชีส์ (species)  ความจริงแล้วความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง คือ
ความหลากหลายในเรื่องชนิด (Species Diversity)
ความหลากหลายของพันธุกรรม (Genetic Diversity)
ความหลากหลายของระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity)
         ความหลากหลายในเรื่องชนิดของสิ่งมีชีวิตนั้นหมายถึงความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิต (Species)  ที่มีอยู่ในพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความหมายอยู่ 2 แง่ คือ
ความมากชนิด (Species richness)
ความสม่ำเสมอของชนิด (species evenness)
        ความมากชนิดก็คือ  จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตต่อหน่วยเนื้อที่  ส่วนความสม่ำเสมอของชนิดหมายถึงสัดส่วนของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในที่นั้น
       ในพื้นที่หนึ่ง ๆ จะมีความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิต (species diversity) มากที่สุดก็ต่อเมื่อมีจำนวนสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิดและแต่ละชนิดมีสัดส่วนเท่า ๆ กัน  ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตนั้นแตกต่างไปตามพื้นที่  ในเมืองหนาว  เช่น  ไซบีเรีย หรือแคนาดา  ในเนื้อที่ 1 เฮกเตอร์ (100 x 100 ม.)  มีต้นไม้เพียง 1 ถึง 5 ชนิดเท่านั้น  ส่วนในป่าเต็งรังของไทย  มีต้นไม้ 31 ชนิด  ป่าดิบแล้ง 54 ชนิด และในป่าดิบชื้นมีอยู่นับร้อยชนิด  ความสม่ำเสมอของชนิดสิ่งมีชีวิต (species evenness) นั้นอาจเข้าใจได้ยากแต่พอที่จะยกตัวอย่างได้  เช่น  มีป่าอยู่ 2 แห่ง  แต่ละแห่งมีต้นไม้จำนวน 100 ต้น และมีอยู่ 10 ชนิดเท่ากัน  แต่ป่าแห่งแรกมีต้นไม้ชนิดละ 10 ต้น  เท่ากันหมด  ส่วนป่าแห่งที่ 2  มีต้นไม้ชนิดหนึ่งมากถึง 82 ต้น อีก 9 ชนิดที่เหลือ  มีอยู่อย่างละ 2 ต้น  ถึงแม้ว่าทั้งสองจะมีจำนวนต้นไม้เท่ากันและมีจำนวนชนิดต้นไม้เท่ากันด้วย  แต่ป่าแห่งแรกเมื่อเข้าไปดูแล้วจะมีความรู้สึกว่าหลากหลายกว่าป่าแห่งที่สอง
        ความหลากหลายของพันธุกรรม
        หมายถึงความหลากหลายของยีนส์ (genes)  ที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด  สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันอาจมียีนส์แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์  เช่น  ข้าวมีสายพันธุ์นับพันชนิด   มันฝรั่ง  หรือพืชอาหารชนิดอื่น  เช่น  ข้าวโพด  มัน  พริก  ก็มีมากมายหลายสายพันธุ์  ความหลากหลายของพันธุกรรมมีน้อยในพืชเกษตรลูกผสม  เช่น  ข้าวโพดที่ได้คัดพันธุ์เพื่อต้องการลักษณะพิเศษบางอย่าง  ฐานพันธุกรรมของพืชเกษตรที่ได้คัดพันธุ์เหล่านี้จะแคบ  ซึ่งไม่เหมือนกับพืชป่าที่ปรับปรุงตัวเองเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติในที่ต่าง ๆ กัน  ความหลากหลายของยีนส์จึงมีมากในที่ป่า  ความหลากหลายของยีนส์นั้นมีคุณค่ามหาศาล  นักผสมพันธุ์พืชได้ใช้ข้าวป่าสายพันธุ์ป่ามาปรับปรุงบำรุงพันธุ์  เช่น  ได้ใช้ข้าวป่าในอินเดียมาปรับปรุงพันธุ์เพื่อต้านทานศัตรูพืช  เช่น  เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  เป็นต้น  ข้าวโพดป่าก็เช่นกันได้ใช้ปรับปรุงพันธุ์เพื่อต้านทานโรคซึ่งก็ช่วยเพิ่มผลผลิต  สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด  แต่ละตัวก็มียีนส์แตกต่างกันไป
         สิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่ถูกทำลาย  ทำให้มีจำนวนลดน้อยลง  ความหลากหลายทางพันธุกรรมก็สูญหายไป  เป็นการสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่ง  ความหลากหลายของระบบนิเวศนั้นมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 
  ถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ 
  การทดแทน
  ภูมิประเทศ
         ความหลากหลายของถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ (Habitat Diversity) ตัวอย่าง  เช่น  ในผืนป่าทางภาคตะวันตกของไทยที่มีลำน้ำใหญ่ไหลผ่านจะพบถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติมากมายคือตัวลำน้ำ  หาดทราย  ห้วยเล็กห้วยน้อยอันเป็นลำน้ำสาขา  พรุซึ่งมีน้ำขัง  ฝั่งน้ำ  หน้าผา  ถ้ำ  ป่าบนที่ดอนซึ่งก็มีหลายประเภท  แต่ละถิ่นกำเนิดก็มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่แตกต่างกันไป  เช่น  ลำน้ำ  พบควาย  ป่าหาดทรายมีนกยูงไทย  หน้าผามีเลียงผา  ถ้ำมีค้างคาว  เป็นต้น  เมื่อแม่น้ำใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่  ภายหลังการสร้างเขื่อนความหลากหลายของถิ่นกำเนิดก็ลดน้อยลง  โดยทั่วไปแล้วที่ใดที่มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลากหลาย  ที่นั้นจะมีชนิดสิ่งมีชีวิตหลากหลายตามไปด้วย  สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาศัยถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลายรูปแบบ  เช่น  กระทิง  วัวแดง  บางครั้งก็หากินในทุ่งหญ้า  บางครั้งก็หากินในป่าโปร่ง  บางครั้งก็หากินในป่าดิบ  มีการโยกย้ายแหล่งหากินไปตามฤดูกาล  ตัวอ่อนแมลงที่อาศัยในน้ำอันเป็นอาหารสำคัญของปลา  บางตอนของวงจรชีวิตของแมลงเหล่านี้ก็อาศัยอยู่บนบก  ปลาบางชนิดตามลำน้ำก็อาศัยผลไม้ป่าเป็นอาหาร  การทำลายป่าเป็นการทำลายแหล่งอาหารของสัตว์น้ำได้เช่นกัน  การรักษาความหลากหลายของถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ  โดยเฉพาะในที่หนึ่ง ๆ  ให้มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติหลายประเภทอยู่ใกล้กันจะทำให้สิ่งมีชีวิตมีมากชนิดเพิ่มขึ้นด้วย

        ความหลากหลายของการทดแทน (Successional Diversity)
        ในป่านั้นมีการทดแทนของสัมคมพืช  กล่าวคือเมื่อป่าถูกทำลายจะโดยวิธีใดก็ตาม  เช่น  ถูกแผ้วถาง  พายุพัดไม้ป่าหักโค่น  เกิดไฟป่า  น้ำท่วม หรือแผ่นดินถล่ม  เกิดเป็นที่โล่งต่อมาจะมีพืชเบิกนำ  เช่น  มีหญ้าคา  สาบเสือ  กล้วยป่า และเถาวัลย์  เกิดขึ้นในที่โล่งนี้  เมื่อกาลเวลาผ่านไป  ก็มีต้นไม้เนื้ออ่อนโตเร็วเกิดขึ้น  เช่น  กระทุ่มน้ำ  ปอหูช้าง  ปอตองแตบ  นนทรี  เลี่ยน  เกิดขี้น และหากปล่อยไว้โดยไม่มีการรบกวนป่าดั้งเดิมก็จะกลับมาอีกครั้งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า  การทดแทนทางนิเวศวิทยา (Ecological Succession)  สิ่งมีชีวิตบางชนิดปรับตัวให้เข้ากับยุคต้น ๆ ของการทดแทน  บางชนิดก็ปรับตัวให้เข้ากับยุคสุดท้าย  ซึ่งเป็นป่าบริสุทธิ์ (virgin forest)  ในทางภาคเหนือป่าดิบเขาเมื่อเกิดที่โล่ง  เช่น  ดินพัง หรือตามทางชักลากไม้  จะพบลูกไม้สนสามใบเกิดขึ้นมากมายตามพื้นดิน  ในป่าทึบจะไม่พบลูกไม้สนเหล่านี้  ต้นกำลังเสือโคร่งก็เช่นเดียวกันคือชอบขึ้นตามที่โล่ง  ในบริเวณป่าดิบเขาที่ไม่ถูกรบกวนจะไม่พบต้นไม้เหล่านี้  ในป่าดิบทางภาคใต้ในยุคต้นของการทดแทนจะพบต้นปอหูช้าง  ปอตองแตบ  กระทุ่มน้ำ  ส้าน  ลำพูป่า  เป็นต้น  ป่านั้นเป็นสังคมพืชที่มีการเปลี่ยนแปลง  มีการทดแทน  กระบวนการทดแทนก่อให้เกิดความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต  นกปรอดหัวโขนมักพบตามป่าละเมาะ และทุ่งหญ้า  ชอบทำรังตามไม้พุ่ม หรือต้นไม้ที่ไม่สูงใหญ่  ส่วนนกเงือกอยู่ตามป่าทึบหรือป่าบริสุทธิ์ดั้งเดิม
         กระบวนการทดแทนตามธรรมชาติช่วยรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และบางทีก็เป็นประโยชน์กับชาวบ้านและเกษตรกร  ตัวห้ำที่กินแมลงศัตรูพืชก็มักพบตามทุ่งหญ้าริมป่า  พืชกินได้หลายชนิดพบตามป่ารุ่นสอง (secondary forest) หรือที่เรียกว่าป่าใส่ (ภาคใต้) หรือป่าเหล่า (อีสาน)  นอกจากนี้ชาวบ้านป่าเหล่านี้  ยังเก็บหาฟืน  ผลไม้  สมุนไพร และอาหารหลายชนิดจากป่ารุ่นสองเหล่านี้  นับเป็นป่าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ  ชาวบ้านป่าเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องไปปลูกสร้างสวนป่าขึ้นใหม่เสมอไป
         ความหลากหลายของภูมิประเทศ (Lands scape Diversity)  ในท้องที่บางแห่งมีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติมากมาย  เช่น  ลำน้ำ  บึง  หาดทราย  ถ้ำ  หน้าผา  ภูเขา  หุบเขา  ลานหิน และมีสังคมพืช  ในหลาย ๆ ยุดของการทดแทน  มีทุ่งหญ้าป่าโปร่งและป่าทึบ  ที่เช่นนี้จะมีสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายผิดกับในเมืองหนาวที่มีต้นไม้ชนิดเดียวขึ้นอยู่บนเนื้อที่หลายร้อยไร่มองไปก็เจอแต่ต้นไม้สนเพียงชนิดเดียว
ประเทศไทย - แหล่งหนึ่งของโลกที่มีทรัพยากรชีวภาพหลากหลาย
         ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน  ตั้งอยู่บนคาบสมุทร  ภูเขาทางภาคเหนือเป็นเทือกเขาที่ติดต่อกับเทือกเขาหิมาลัย และมีทิวเขาทอดตัวลงทางใต้  เช่น  เทือกเขาธงชัย  เทือกเขาตะนาวศรี  ซึ่งกั้นชายแดนไทย-พม่า  นอกจากนี้ยังมีเทือกเขาภูเก็ต  เทือกเขานครศรีธรรมราชทอดตัวลงทางใต้ลงไปถึงชายแดนจรดเทือกเขาสันกาลาคีรี  ส่วนทางภาคกลางต่อภาคอีสานก็มีเทือกเขาเพชรบูรณ์เทือกเขาดงพญาเย็น และเทือกเขาพนมดงรัก  ซึ่งกั้นชายแดนไทยกัมพูชา

    ประเทศไทยเป็นที่รวมของพรรณพืช 3 เขต คือ
            (1)  Indo-Burma
            (2)  Annmetic
            (3)  Melesia
     ประเทศไทยเป็นที่รวมของพันธุ์สัตว์ 3 เขต คือ
            (1)  Sino-Himalayan
            (2)  Indo-Chinese
            (3)  Sundaic
            ประเทศไทยเป็นรอยต่อระหว่างป่าดงดิบชื้นกับป่าผลัดใบเขตร้อนของโลก
         ในประเทศไทยสังคมพืชนั้นหลากหลาย  อยู่ชิดติดต่อกันคล้ายโมเสค (Mosaic Vegetation)  บ่อยครั้งที่พบว่าริมห้วยเป็นป่าดิบมีหวาย  สูงขึ้นไปเพียงเล็กน้อยเป็นป่าเบญจพรรณผลัดใบ และห่างออกไปไม่มากเป็นป่าเต็งรัง  สูงขึ้นไปอีกนิดเป็นป่าดิบเขา  สังคมพืชต่าง ๆ นี้อยู่ใกล้ชิดติดต่อกันจำนวนสิ่งมีชีวิตก็หลากหลายตามไปด้วย หรือบนภูเขาหินปูนแถบกาญจนบุรีบนด้านลาดทิศใต้เป็นป่าไผ่  ส่วนด้านลาดทิศเหนือเป็นป่าผลัดใบ  มีไม้ตะแบกและไผ่รวมกัน  แต่ตามริมห้วยและสันเขา  เป็นป่าดงดิบ
 
ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ

         สิ่งมีชีวิตใช้เวลานานในการกำเนิดและวิวัฒนาการ  ที่ใดมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่นั้นย่อมมีกระบวนการทางนิเวศวิทยาที่สลับซับซ้อน และมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตสูง  สิ่งมีชีวิตบางชนิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แพร่พันธุ์กว้างไกลไปทั่วโลก  แต่มีมากมายหลายชนิดที่อยู่เฉพาะที่เฉพาะแห่งเท่านั้น  ดังนั้น  มุมต่าง ๆ ของโลกย่อมมีกลุ่มสิ่งมีชีวิตแตกต่างกันไป  เช่น  ป่าไม้สักพบเฉพาะในอินเดีย  พม่า  ไทย และลาวเท่านั้น  เราเสียดายหากสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไป  เพราะสิ่งมีชีวิตนั้นไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกแล้ว หรือไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ และไม่มีโอกาสวิวัฒนาการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอีกต่อไป  ยิ่งในปัจจุบันเราสามารถถ่ายทอดยีนส์จากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปสู่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง  ทำให้สูญเสียแหล่งยีนส์ที่มีลักษณะพิเศษ และมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมนุษยชาติ
         ความจริงแล้วการสูญพันธุ์นั้นเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ  สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในที่สุดก็จบลงด้วยการสูญพันธุ์เหมือนกันหมด  แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ก็คือเรื่องอัตราเร็วของการสูญพันธุ์  กล่าวคือภายใต้สภาพการณ์ตามธรรมชาติตลอดชั่วระยะเวลาที่โลกเราได้วิวัฒนาการมานั้นอัตราการสูญพันธุ์จะมีน้อยกว่าอัตราวิวัฒนาการเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่  ฉะนั้น  ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตจึงมีเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา  ในอดีตหลายล้านปีมาแล้วอาจมีบางช่วงที่มีการสูญพันธุ์ขนานใหญ่เกิดขึ้นในโลกนี้  แต่ก็มีบางช่วงที่มีสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้นมากมายเช่นเดียวกัน  สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือภายหลังที่มนุษย์เราได้เจริญขึ้น  เข้าสู่ยุคแห่งอุตสาหกรรม  มีการทำลายถิ่นกำเนิดธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตหลายอย่างโดยกิจกรรมที่เรียกว่าการพัฒนาอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมีมากกว่า 1,000 เท่าของที่ควรจะเป็นในธรรมชาติ  ขณะนี้สรรพสิ่งมีชีวิตของโลกได้ถูกทำลายสูญพันธุ์จนเหลือต่ำสุดในรอบ 65 ล้านปีที่ผ่านมา และอีก 20 ปีข้างหน้าจะสูญพันธุ์ไปถึง 1 ใน 4 ของที่เคยมีในปี พ.ศ. 2525  การทำลายป่าเป็นเหตุที่สำคัญของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเพราะป่าไม้เป็นที่รวมของสรรพสิ่งมีชีวิตมากมายและถ้าหากสิ่งมีชีวิตในโลกเรามีถึง 10 ล้านชนิดอัตราการทำลายป่าขณะนี้ทำให้สิ่งมีชีวิตในโลกสูญพันธุ์ไปวันละ 50-150 ชนิด  ซึ่งสูงกว่ายุคใด ๆ ที่ผ่านมา
         สิ่งที่มนุษย์เราได้รับจากระบบนิเวศวิทยาที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นมีอยู่มากมาย  ที่เห็นได้ชัดก็คือประโยชน์ทางตรง  วัสดุธรรมชาติมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม  สามในสี่ของประชากรในโลกนั้นใช้พืชสมุนไพรจากป่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา  ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วมีอุตสาหกรรมผลิตยาที่สกัดจากวัสดุธรรมชาติมูลค่านับแสนล้านบาท  หนึ่งในสี่ของยาที่ใช้กันในสหรัฐในขณะนี้มีตัวยาที่สกัดจากพืช  ยาที่สำคัญใช้กันมากในโลกนั้นพบครั้งแรกในพืช  เช่น  ควินิน  แอสไพริน (จากเปลือกของต้นหลิว)  ในเมืองจีนใช้สมุนไพรกว่า 5,100 ชนิด  ส่วนในโซเวียตใช้พืชสมุนไพรมากกว่า 2,500 ชนิด  องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้ใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น  ยาปฏิชีวนะมากกว่า 3,000 ชนิด  ก็สกัดมาจากราภายในดิน

       มนุษย์เรานั้นพึ่งพาอาศัยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นไม่ว่าจะเป็นพืช  สัตว์ และจุลินทรีย์  นอกจากได้ใช้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เป็นยาดังกล่าวแล้ว  อาหารทั้งหมดและวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมก็ได้จากสิ่งมีชีวิตที่พบในธรรมชาติ หรือที่มนุษย์นำมาเพาะเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ที่บริโภคก็ได้จากธรรมชาติป่านั้นเป็นที่รวมสรรพสิ่งมีชีวิตไว้มากมาย  พืชเกษตรหลายชนิดก็คือกำเนิดมาจากป่าไม่ว่าจะใช้เป็นอาหาร และเป็นไม้ดอกไม้ประดับก็ตาม  ตลอดเวลา 50 ปี  ที่ผ่านมาได้นำพืชป่าที่เป็นญาติของพืชเกษตรมาใช้ปรับปรุงพันธุ์  ทำให้ผลผลิตของข้าว  ฝ้าย  อ้อย  ข้าวสาลี  ข้าวบาร์เลย์  เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวทำให้ผลผลิตมะเขือเทศเพิ่ม 3 เท่า  ส่วนข้าวโพด  ข้าวฟ่าง  มันสำปะหลัง  ผลผลิตเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว  ทรัพยากรที่เป็นสิ่งมีชีวิตสามารถทำเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่สำคัญได้เช่นกัน  การท่องเที่ยวในอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านำเงินตราเข้าประเทศและทำให้เงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น
พื้นที่อนุรักษ์ (Protected Areas)
         พื้นที่อนุรักษ์  เช่น  อุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่อนุรักษ์ควรเป็นหน่วยทางนิเวศวิทยาที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่พอเพียง  มีหลาย ๆ  กรณีที่นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประจำถิ่นต้องการเนื้อที่ในการดำรงชีวิตที่ครอบคลุมถิ่นกำเนิดธรรมชาติหลายประเภทในการดำรงชีพซึ่งต้องการเนื้อที่มากกว่าพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้ประกาศเสียอีก 88%  ของนกป่าในประเทศไทยปรากฎอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพียง 7.8%  เท่านั้น
         พื้นที่อนุรักษ์ยิ่งมีขนาดเล็ก  จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของแนวขอบป่า (edge effect) มาก  อิทธิพลแนวขอบป่า (edge effect)  ก็คืออัตราส่วนระหว่างระยะทางของแนวขอบป่ากับเนื้อที่ภายใน  ตามแนวขอบป่าแสงสว่างจะส่องเข้าไปข้างในป่าได้มาก  อากาศใกล้ผิวดินตามแนวขอบป่าก็ผันแปรมาก  เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น  พืชหลายชนิดได้ปรับตัวเองให้เข้าอยู่กับสภาพภายในป่า  ตามขอบป่าอยู่ไม่ได้  การมีขอบป่ามาก ๆ  มลพิษและคนอพยพเข้าไปทำลายได้ง่าย
         พื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งมีสภาพเป็นเกาะ  อยู่ท่ามกลางป่าที่เสื่อมโทรม หรือท่ามกลางบริเวณที่ปลูกพืชไร่  การแบ่งพื้นที่อนุรักษ์ออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย  เช่น  โดยการตัดถนน หรือโดยอ่างเก็บน้ำที่เป็นแนวยาว  เกิดจากการสร้างเขื่อนจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในที่สุด  ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง  พื้นที่ยิ่งมีขนาดเล็ก  จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตที่พบจะมีจำนวนชนิดลดตามลงด้วย  กฎง่าย ๆ ตามทฤษฎีชีวภูมิศาสตร์ของเกาะ (Theory of Island Biogeography)  บอกว่า  "ถ้าสูญเสียพื้นที่ไป 90% (มีเหลือเพียง 10%)  ในที่สุดจะทำให้สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปครึ่งหนึ่ง"  พื้นที่อนุรักษ์จึงไม่ควรต่ำกว่า 10%  ความจริงโลกเรามีพื้นที่อนุรักษ์เพียง 3.2%  เท่านั้น
         ป่าดั้งเดิมนั้นควรเป็นจุดศูนย์กลางของการอนุรักษ์แต่ป่าที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังป่าดั้งเดิมถูกทำลาย (secondary forest) นั้นก็มีความสำคัญเช่นกัน  ป่ารุ่นสองนี้บางทีเรียกว่าป่าเหล่า  ป่าใส หรือไร่ทราก  มีพันธุ์พืชและสัตว์หลายชนิดที่พบเฉพาะในป่ารุ่นสอง  แต่ไม่พบในป่าดั้งเดิม  มีการศึกษาชี้ให้เห็นว่า  ในป่ารุ่นสองนี้มีพืชอาหาร และสมุนไพรที่เป็นประโยชน์หลายชนิดเปอร์เซ็นต์  พืชที่เป็นประโยชน์ดูเหมือนจะมีมากกว่าที่พบในป่าดั้งเดิมเสียอีก  ดังนั้นจึงควรอนุรักษ์ป่ารุ่นสองไว้เช่นเดียวกัน
         การป้องกันรักษาป่าโดยวิธีจับกุมปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียวนั้นยากที่จะประสบความสำเร็จ  จำเป็นต้องใช้หลาย ๆ  วิธีร่วมกันเพื่อมุ่งลดความกดดันที่เกิดจากคนที่มีต่อป่า  โดยให้คนผลิตอาหารพอเพียงต่อปากท้อง  ดำรงชีพอยู่ได้  มีไม้ใช้สอยไม่ต้องเบียดเบียนจากป่าธรรมชาติ และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์  มีความจำเป็นที่ต้องหาวิธีการให้เขาทราบว่า  การอนุรักษ์ป่านั้นก็เป็นประโยชน์กับคนท้องถิ่น และรัฐบาลด้วย

         เมื่อพิจารณาในแง่สังคมและการเมืองแล้วการอนุรักษ์ป่าที่มีลักษณะเป็นเกาะอยู่ท่ามกลาง
การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ยากจน  มาตรฐานการครองชีพต่ำ และขาดแคลนทรัพยากรพื้นฐานโดยวิธีป้องกันปราบปราม 100%  นั้นไม่ประสบความสำเร็จ  ในกรณีนี้จะมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอยู่ 2 แบบ คือ บริเวณที่มีคนอยู่กับบริเวณที่ห้ามใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาด  รัฐเองก็มีทรัพยากร และกำลังคนไม่เพียงพอ  การรักษาทรัพยากรโดยวิธีนี้บทเรียนที่ผ่านมาก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าล้มเลว
        ควรจัดทำเขตกันชนรอบใจกลางของพื้นที่อนุรักษ์  การใช้ประโยชน์ที่ดินควรมีหลายรูปแบบลดหลั่นไปตามความมากน้อยในการอนุญาตให้คนใช้ประโยชน์จากป่า  กล่าวคือจากบริเวณที่ป้องกันห้ามใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาดอันเป็นแกนกลางของการอนุรักษ์ไปสู่บริเวณที่จำกัดการใช้ประโยชน์เช่นอนุญาตให้เก็บหาผัก  สมุนไพร และของป่าได้เอง  ถัดไปเป็นบริเวณที่อนุญาตให้ตัดไม้ใช้สอยได้ต่อจากนั้นก็เป็นบริเวณที่ปลูกสวนป่า  พื้นที่เกษตรและที่ตั้งบ้านเรือน  ในแต่ละโซนอาจมีป่าธรรมชาติเหลือไว้เป็นหย่อม ๆ  เพื่อทำหน้าที่เป็นเส้นทางในการอพยพ หรือกระจายพันธุ์ของพืชและสัตว์ด้วย
         แนวความคิดเก่า ๆ  มักมุ่งอนุรักษ์แต่เฉพาะป่าสมบูรณ์เอาไว้นั้นไม่ได้ผลเช่นเคย  มีการอนุรักษ์ป่าสมบูรณ์ผืนเล็ก ๆ ไว้  ต่อมาคนเข้าไปเที่ยวเดินเหยียบย่ำต้นไม้ก็เสื่อมโทรมลงตามลำดับเพราะป่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  การอนุรักษ์จึงไม่ควรอนุรักษ์เฉพาะป่าสมบูรณ์ดั้งเดิมเท่านั้น  ป่ารุ่นสองก็มีความสำคัญ  ป่าก็ฟื้นตัวเองได้  การทดแทนทางนิเวศวิทยานั้นมีตลอดเวลา  วันหนึ่งป่ารุ่นสองเหล่านี้ก็กลับเป็นป่าดั้งเดิมได้อีก  ป่าดั้งเดิมก็อาจถูกภัยพิบัติธรรมชาติ  เช่น  พายุ  ไฟป่า  แผ่นดินเลื่อนไหล  กลายเป็นป่ารุ่นสองได้เช่นเดียวกัน  เนื้อที่อนุรักษ์จึงควรกว้างขวางพอที่จะครอบคลุมยุคต่าง ๆ ของการทดแทน  เช่น  ป่าใส หรือป่าเหล่า หรือไร่ทรากไว้ด้วยยุคต่าง ๆ ของการทดแทนเหล่านี้  ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น
         การอนุรักษ์ควรวางแผน และจัดการโดยให้มีพื้นที่ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง  เช่น  อาจให้มีพื้นที่ถึง 3 โซน คือ บางโซนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์  บางโซนเพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยป่าธรรมชาติ  ส่วนบางโซนเป็นการอนุรักษ์ป่าดั้งเดิมไว้ตามสภาพธรรมชาติโดยไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเพื่อการใด ๆ ทั้งสิ้น  ในบางกรณีอาจมีชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่  เช่น  บางพื้นที่มีชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยมานานนับร้อยปีหรือเกาะบางแห่งมีชาวเลตั้งถิ่นฐานอยู่มานานหากเป็นไปได้ก็ควรให้ชุมชนดั้งเดิมนี้ได้มีส่วนร่วมในการจัดการป่าอนุรักษ์นั้นด้วย  โดยให้เขาได้รับผลประโยชน์จากการจัดป่าอนุรักษ์นั้นบ้าง  เพื่อบำบัดความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพ และให้ป่าอนุรักษ์อำนวยผลประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา

ที่มา  http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi1/bio-frst/bion.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น